เงินนอกระบบ ในตลาดนัดสวนจตุจักร

สังคม
27 ก.พ. 55
01:09
9
Logo Thai PBS
เงินนอกระบบ ในตลาดนัดสวนจตุจักร

แผงค้าที่มีอยู่ในตลาดนัดสวนจตุจักรกว่า 8,000 แผง ยังเป็นที่ต้องการของผู้ค้าซึ่งความจริงก็คือแผงค้าจำนวนไม่น้อยให้เช่าช่วงต่อกัน หรือเซ้งต่อกัน และยังมีเงินนอกระบบมูลค่ามหาศาลหมุนเวียนอยู่ในตลาดแห่งนี้ จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า การรถไฟฯ จะเข้ามาบริหารผลประโยชน์เหล่านี้อย่างไร

แผงค้าในตลาดนัดจตุจักร ที่มีอยู่กว่า 8,000 แผง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแผงค้าที่มาจากการเช่าช่วงต่อกันหลายทอด ค่าเช่าแผงที่กรุงเทพมหานครเรียกเก็บแผงละ 500 บาท จึงถูกปรับราคาขึ้นไปกว่า 40 เท่า ซึ่งผู้ค้าบางรายยอมเสียค่าเช่าแพงในราคาสูงถึง 20,000 บาท

เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนจะเรียกเก็บค่าเช่าแผง แผงละ 3,157 ต่อเดือน จึงอาจทำให้เจ้าของแผงมาขึ้นราคาค่าเช่าแผงกับผู้ค้าตัวจริงอีกทอดหนึ่ง ซึ่งทีมข่าวได้ขอข้อมูลกับเจ้าของแผงค้าตลาดนัดจตุจักร ที่ลงโฆษณาให้เช่าแผงไว้ในเวบไซต์จตุจักรไกด์ดอทคอม และพบว่าราคาแผงค้าที่มีให้เช่า มีราคาตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับทำเล

ขณะที่นายประเสริบ อัตตะนันทน์ รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยระบุว่า แผงค้าในตลาดนัดจตุจักรมีการปล่อยให้เช่าช่วงกันในราคาเฉลี่ย แผงละ 10,000-17,000 บาทต่อเดือน การเรียกเก็บค่าเช่าแผงของการรถไฟที่ 3,157 บาทต่อเดือน จึงเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด และมองว่าการเก็บค่าเช่าที่ต่ำกว่าราคาตลาดมากเกินจริง จะทำให้เกิดช่องทางการทุจริต

ขณะที่การศึกษาเรื่องเศรษฐกิจนอกระบบ และธุรกิจใต้ดินในประเทศไทย ของ รศ.
สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต พบว่ารากฐานปัญหาตลาดนัดจตุจักรมาจากการกำหนดราคาค่าเช่าแผงของ กทม.ที่ 500 บาทต่อเดือน ต่ำกว่าราคาธรรมชาติของตลาดค่อนข้างมาก ในขณะที่ความต้องการของผู้ค้ามีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนมือเจ้าของ หรือเช่าช่วง

ปัจจุบันมีผู้ค้าที่เป็นผู้เช่าช่วงมีประมาณร้อยละ 70 หรือ 6,300 แผง จากทั้งหมด 8,800 แผง ค่าเช่าช่วงสูงถึงแผงละ 6,000 – 20,000 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นเงิน 720 - 2,400 ล้านบาทต่อปี การปรับค่าเช่าแผงเป็น 3,157 บาทต่อเดือน ยังอยู่ในวิสัยที่รับได้ แต่ควรมีการจัดระเบียบใหม่ให้ราคาแผงเป็นไปตามกลไกตลาดอย่างแท้จริง และนอกจากค่าเซ้งแผง และค่าเช่าช่วงมูลค่ามหาศาล ผลการศึกษายังพบว่ามีค่าเช่าต่างๆ เกิดขึ้นในตลาดนัดจตุจักรมากกว่า 10 ประเภท เช่น ค่าปรับ ค่าจอดรถ ค่าเช่าพื้นที่จัดกิจกรรมค่าห้องน้ำสาธารณะ หรือการสร้างแผงใหม่ ที่เป็นเงินนอกกฎหมาย อีกประมาณ 1,000 - 3,500 ล้านบาทต่อปี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง