ผู้หญิงที่ทำแท้งมีแนวโน้มอายุน้อยลง

สังคม
27 ก.พ. 55
08:26
24
Logo Thai PBS
ผู้หญิงที่ทำแท้งมีแนวโน้มอายุน้อยลง

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ยังมีรายงานเกี่ยวกับการทำแท้ง และความพยายามในการจับกุมผู้ที่รับทำแท้งเถื่อนอย่างต่อเนื่อง แต่สถิติกลับมีรายงานว่า แต่ละปีมีการทำแท้งกว่าปีละ 200,000 ราย

กรณีการทำแท้งเถื่อนยังปรากฎให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ช่วงปลายปี 53 พบซากทารกมากถึง 2002 ศพ ที่วัดไผ่เงินโชตนาราม จนกลายเป็นกระแสการแก้ปัญหาการทำแท้ง ทั้งการป้องกัน และการเอาผิดกับผู้ทำแท้ง ถึงขั้นมีข้อเสนอให้ปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เคยมีข้อถกเถียงกันถึงการแก้กฎหมายการทำแท้ง โดยมีข้อเสนอให้มีการพิจารณายกร่างกฎหมายอนุญาตการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการทำแท้งในผู้หญิงที่ยังไม่พร้อมในหลายกรณี เช่น กรณีคู่สมรสที่ไม่พร้อมมีบุตร จากเดิมที่กฎหมายเปิดช่องให้หญิงมีครรภ์สามารถทำแท้งได้ หากการทำแท้งนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อสุขภาพของหญิงนั้น ซึ่งการทำแท้งดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

1. การทำแท้งนั้น ต้องเป็นการกระทำของแพทย์เท่านั้น
2. หญิงที่ตั้งครรภ์ต้องยินยอมให้แพทย์ทำแท้ง
3. มีความจำเป็นเนื่องจากสุขภาพของหญิงที่ตั้งครรภ์นั้น หรือเพราะว่าหญิงนั้น ตั้งครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาบางฐาน เช่น หญิงนั้นถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์

ซึ่งหากเข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อ กฎหมายก็อนุญาตให้หญิงมีครรภ์ทำแท้งได้ โดยหญิงตั้งครรภ์ และแพทย์ที่ทำแท้งให้ไม่มีความผิดตามกฎหมาย
 
แต่หากว่าการทำแท้งนั้น เป็นเพื่อสุขภาพของเด็กในครรภ์ เช่น ไปถ่ายเอ็กซ์เรย์ดูแล้วพบว่า เด็กแขนขาพิการ หัวใจไม่ปกติ ลักษณะนี้ จะอ้างว่าทำแท้งเพื่อเห็นแก่เด็กที่จะเกิดมาพิการไม่ได้ ถือว่ามีความผิด เพราะกฎหมายมุ่งคุ้มครองเด็ก การที่เด็กจะเกิดมาไม่สมประกอบไม่ได้หมายความว่า เด็กคนนั้นไม่ควรเกิดมาบนโลกนี้เพราะ กฎหมายมีหลักการว่าคนพิการหรือไม่สมประกอบ ก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากับคนปกติทุกประการ
 
แม้ขณะนี้ จะไม่มีการยกร่างประมวลกฎหมายการอนุญาตให้ทำแท้งขึ้นมา เนื่องจากมีกระแสต่อต้านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งอาจไม่มีการยกร่างเพื่อปรับแก้อีก ส่วนกรณีความผิดเกี่ยวกับการทำแท้งนั้น เคยมีข้อเสนอให้มีการเอาผิดกับผู้ชาย ซึ่งถือว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด และควรมีส่วนรับผิดชอบในกรณีนี้ด้วย แทนที่จะเอาผิดกับฝ่ายหญิง และผู้ที่รับทำแท้งเท่านั้น แต่ที่น่าสนใจคือ ข้อเสนอข้อนี้เงียบหายไปหลังจากกระแสการพบซากทารก 2002 ศพซาลงไปด้วย
 
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ยังคงมีรายงานเกี่ยวกับการพบซากทารก และความพยายามในการติดตามจับกุมผู้ที่รับทำแท้งเถื่อนอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกัน ก็ยังมีสถิติเกี่ยวกับการทำแท้งเถื่อน ที่มีรายงานว่า แต่ละปี จะมีผู้หญิงสมัครใจ หรือ สมยอมไปทำแท้งกว่าปีละ 200,000 ราย ขณะที่ผู้ที่ตั้งครรภ์ด้วยสภาพไม่พร้อม มีเกณฑ์อายุที่น้อยลงอย่างต่อเนื่อง
 
ส่วนการเอาผิดผู้กระทำผิดนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ระบุว่า หญิงใดยินยอมให้ผู้อื่นทำแท้งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่มาตรา 302 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตรา 303 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นไม่ยินยอมต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะเดียวกัน บทลงโทษต่างๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา ได้ระบุไว้ถึงผู้มีส่วนรู้เห็น ซึ่งต้องมีความผิดร่วมด้วย เช่นในกรณีของดาราชายคนหนึ่ง ที่ฝ่ายหญิงอ้างว่า เป็นผู้พาฝ่ายหญิงไปทำแท้ง โดยเป็นข้อตกลงร่วมกันนั้น กรณีเช่นนี้ ฝ่ายชายก็มีความผิดต้องรับโทษ 2 ใน 3 ในฐานผู้สนับสนุน มีโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง