ปัญหาจัดเรตติ้งจากการใช้คำพูดไม่เหมาะสม

Logo Thai PBS
ปัญหาจัดเรตติ้งจากการใช้คำพูดไม่เหมาะสม

การจัดเรตติ้งผู้ชมโดยพิจารณาจากการใช้คำพูดไม่เหมาะสมเพียงไม่กี่คำ อาจกลายเป็นการจำกัดสิทธิคนกลุ่มหนึ่งได้ เช่นที่เกิดกับสารคดีตีแผ่ชีวิตวัยรุ่นอเมริกันที่ถูกรังแกในโรงเรียนเรื่อง Bully ซึ่งห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีเข้าชม ยกเว้นมากับผู้ปกครอง ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่าเป็นการลดทอนโอกาสสร้างความเข้าใจของผู้มีส่วนสร้างปัญหาสังคมในโรงเรียน

ฝันร้ายของเด็ก 5 คนที่ถูกรังแกในโรงเรียน ที่แย่ไปกว่านั้นยังมีเด็กอีกคนตัดสินใจจบชีวิตเพราะถูกทำร้ายจิตใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นเสี้ยวหนึ่งของปัญหาเด็กวัยรุ่นอเมริกัน 13 ล้านคน ที่กำลังเผชิญ และถูกนำเสนอในสารคดีเรื่อง Bully สะท้อนปัญหาสังคมในโรงเรียน แต่เด็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเรื่องราวเหล่านี้กลับไม่มีโอกาสได้ชมสารคดี เพียงเพราะการใช้คำพูดไม่เหมาะสม 6 คำของเด็กเกเรในเรื่อง ทำให้ Bully ถูกพิจารณาจากสมาคมภาพยนตร์อเมริกัน หรือ MPAA ให้เป็นหนังเรตอาร์

การได้เรตอาร์ทำให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปีไม่สามารถชมสารคดีเรื่องนี้ได้ หากไม่มีผู้ปกครองพาเข้าไปชมในโรงหนัง สร้างความไม่พอใจต่อหลายฝ่าย ทั้งสมาพันธ์ครูแห่งอเมริกาที่ชี้ว่าเป็นการลดโอกาสสร้างความเข้าใจจากผลกระทบของการล้อเลียนในโรงเรียน ทั้งผู้ถูกรังแกและคนที่กลั่นแกล้ง เคที บัทเลอร์ เด็กสาววัย 17 ปีรวบรวมรายชื่อทางออนไลน์เกือบ 200,000 รายเรียกร้องให้ลดเรตลงเหลือ PG-13 ซึ่งเด็กอายุมากกว่า 13 ปีสามารถดูได้อย่างเสรี โดยย้ำว่าการได้เรตอาร์ทำให้สารคดีแทบไม่มีโอกาสฉายตามสถานศึกษาได้

หนทางที่จะแก้เรตของ Bully คือการเซ็นเซอร์คำหยาบในเรื่อง แต่ ลี เฮิร์ช ผู้กำกับซึ่งเคยผ่านฝันร้ายจากการถูกรังแกในวัยเด็ก มองว่าเป็นการกระทำที่ลดทอนความรุนแรงจากความเป็นจริงซึ่งไม่เป็นธรรมต่อเด็กๆในเรื่องที่ยอมเปิดเผยเรื่องราวต่อสาธารณชน

ในอดีตเคยมีสารคดีอย่าง Gunner Palace ซึ่งปรากฏคำหยาบคายหลายสิบครั้ง แต่ได้รับการลดเรตจากอาร์เหลือ PG-13 เนื่องจากคุณค่าของสารคดีที่เล่าถึงทหารอเมริกันที่รบในสงครามอิรัก แต่ โจน เกรฟส์ หัวหน้าฝ่ายจัดเรตของ MPAA บอกว่าเป็นมติจากคณะกรรมการคนละชุด และย้ำว่าการจัดเรตไม่ได้วัดจากคุณค่าของผลงาน แต่จัดแบ่งตามระดับเนื้อหา โดยผู้ปกครองจะเป็นผู้พิจารณาว่าเรื่องไหนมีความเหมาะสม

Bully จัดจำหน่ายโดย Weinstein Company ซึ่งมีปัญหากับการจัดเรตของ MPAA บ่อยครั้ง ทั้งฉากรักใน Blue Valentine ที่ติดเรตสูงถึง NC-17 ที่ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีดูทุกกรณี และหนังออสการ์อย่าง King's Speech ก็ได้เรตอาร์เพราะฉากพูดคำหยาบ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ประธาน Weinstein Company กล่าวว่าแม้เยาวชนจะสามารถชมสารคดีเรื่องนี้ได้โดยมีผู้ปกครองคอยแนะนำ แต่จะมีความหมายยิ่งกว่าหากพวกเขาตัดสินใจเลือกชมด้วยตัวเอง เพราะนำไปสู่การตระหนักเห็นปัญหาและผลกระทบจากการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง