ปปท.ตรวจพื้นที่ป่าถูกบุกรุกเทือกเขากมลา

ภูมิภาค
9 มี.ค. 55
01:22
14
Logo Thai PBS
ปปท.ตรวจพื้นที่ป่าถูกบุกรุกเทือกเขากมลา

ปปท.ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบที่ดินที่ถูกบุกรุกเพิ่มเติม โดยเฉพาะพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากมลา ที่มีรายชื่ออดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และลูกสาวอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าของบางแปลง พร้อมเตรียมประสาน ปปช.ตรวจสอบทรัพย์สินและยึดทรัพย์ หากพบเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องในการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ

พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ปปท. พร้อมเจ้าหน้าที่จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจสอบ พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากมลา โซนซี หลังพบเรื่องร้องเรียนว่าที่แห่งนี้ มีการออกโฉนดไปแล้วบางแปลง ซึ่งมีรายชื่อของอดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และบุตรสาวอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าของที่ดิน และบางแปลงอยู่ระหว่างการขอออกโฉนด ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดนี้อยู่ในเขตป่าสงวนเทือกเขากมลา ซึ่งมีสภาพป่าสมบูรณ์ และยังไม่พบการทำประโยชน์ตามที่แจ้งในใบ สค.1 หรือ แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ทำให้ เชื่อว่าขั้นตอนการออกเอกสารสิทธิ์ ในที่ดินแปลงต่างๆ มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะที่ดินกว่า 200 แปลงที่พบความผิดปกติ อยู่บนยอดเขา ซึ่งมีความลาดชัน และบางแปลงไม่พบร่องรอยการทำประโยชน์ ตามกฎหมายที่ดิน ที่ระบุว่าต้องทำประโยชน์ก่อนปี 2497 หากมีการแจ้งการครอบครอง และต้องทำประโยชน์จนถึงปัจจุบัน

ส่วนบริเวณถนนเลียบรอบเมืองราไว หาดสุรินทร์ ใกล้แนวหาดหินตั้ง โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ ปปท.พบว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ นส.3 ไม่ตรงกับ หนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน หรือ สค.1 จากเดิมหนังสือ สค.1 แจ้งครอบครองพื้นที่หมู่ 1 ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา แต่ใน นส.3 ก. ระบุที่ดินอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต และมีที่ดินที่ระบุไว้ในนส.3 รวม 21 ไร่เศษ และพบว่า ชื่อบุคคล ที่ระบุใน สค.1 ไม่เคยมีที่ดิน บริเวณที่กำลังก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ ส่วนสถานที่ตั้งตามหนังสือทั้ง 2 ฉบับที่ไม่ตรงกัน ทำให้ ปปท.เชื่อว่า มีความพยายามในการอาศัยช่องว่างของกฎหมาย เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ นส.3 ก. และมีการออกมากถึง 21 ไร่ มูลค่าที่ดินหากมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีมูลค่าสูงหลายพันล้านบาท

ทั้งนี้ การตรวจสอบครั้งนี้เป็นการตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่ง ปปท.จะตรวจสอบด้วยว่ามีกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาร่วมทุนหรือไม่  และในช่วงสายวันนี้ (9 มี.ค.) เลขา ปปท.และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะบินสำรวจพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่ถูกบุกรุก เพื่อวางแนวทางป้องกันและรื้อระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อาจเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกเอกสารสิทธิ์ โดยมิชอบ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง