ปัญหาผู้ป่วยทางจิตเวชถูกทอดทิ้ง

14 มี.ค. 55
13:43
48
Logo Thai PBS
ปัญหาผู้ป่วยทางจิตเวชถูกทอดทิ้ง

ในแต่ละปีมีผู้ป่วยอาการทางจิตเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่าย กรมสุขภาพจิต ถึงกว่า 1 ล้านคน หลายคนเป็นคนเร่ร่อน ไม่มีญาติ ไม่มีหลักฐานแสดงตัว และบางคนถูกนำตัวมาทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล เช่นที่ ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา ต้องแบกรับภาระดูแลผู้ป่วยไร้ญาติกว่า 300 คน ทำให้มีค่าใช้จ่ายถึงวันละเกือบ 200,000 บาท ส่วนผู้ป่วยจิตเวชทั่วไปยังพบว่าไม่มีระบบจัดการดูแลอย่างชัดเจน

ผู้ป่วยชายคนนี้จำเป็นต้องถูกพันธนาการอยู่บนที่นอน เพื่อควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด หลังมีอาการคลุ้มคลั่งอย่างต่อเนื่อง จนไม่สามารถปล่อยให้อยู่คนเดียว หรือปล่อยให้ใช้ชีวิตอิสระเหมือนผู้ป่วยรายอื่นได้ เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายอื่นที่ต้องถูกควบคุมในลักษณะที่คล้ายกัน ปัจจัยหนึ่งมาจากการที่พวกเขาขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้รับยาที่เหมาะสม และหลายคน เป็นคนเร่ร่อน หรือออกจากบ้านมาโดยไม่รู้ตัว

หญิงสาววัย 30 ปี คนนี้ถูกตำรวจภูธรนนทบุรี นำตัวมาส่งที่โรงพยาบาลศรีธัญญา เพราะเธอมีอาการทางประสาท พูดคุยไม่รู้เรื่อง เดินไปมาอยู่ภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง จากการสอบถาม เธอบอกได้เพียงชื่อ และบ้านเกิดเท่านั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ถูกส่งตัวมาในลักษณะนี้ไม่สามารถจดจำชื่อหรือมีเอกสารแสดงตัวตนได้ ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิใดๆ ได้ โรงพยาบาลจำเป็นต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไว้เองทั้งหมด

สอดคล้องกับข้อมูลของมูลนิธิกระจกเงาที่ระบุว่าคนเร่ร่อนส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต ที่ออกมาจากบ้านโดยไม่รู้ตัว ซึ่ง 7 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่กลายเป็นคนหายแล้วกว่า 300 คน และในจำนวนนี้กว่าครึ่งยังไม่ทราบชะตากรรม

ปัจจุบันผู้ป่วยเหล่านี้ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชน เพราะหลายคนยังคงมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว จนกว่าจะได้รับผลกระทบ เช่น ผู้ป่วยเกิดคลุ้มคลั่งไล่ทำร้ายคนรอบข้าง นอกจากนี้ยังพบข้อกฎหมายที่ยังมีช่องโหว่

พญ.ผาณิต หนุนภักดี แพทย์โรงพยาบาลศรีธัญญา ระบุว่า ผู้ป่วยข้างถนนที่เข้ามารักษาส่วนใหญ่มักจะมีอาการคลุ้มคลั่ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากไม่ได้รับการรักษาที่ถุกต้อง และมีการใช้ยาเสพติดร่วมด้วย ทั้ง บุหรี่ ยาบ้า กัญชา แอลกอฮอล์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ป่วยคลุ้มคลั่ง และใช้ความรุนแรง เมื่อรักษาจนอาการดีขึ้น ติดต่อญาติได้ ญาติที่รับกลับไปดูแลต้องใช้ความระมัดระวัง และต้องคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะอาการเหล่านี้สามารถกำเริบได้ตลอดเวลา

แม้ปัจจุบันจะมีพระราชบัญญัติสุขภาพจิต 2551 คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ป่วยเหล่านี้ แต่ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยจำนวนมากยังถูกละเลย รวมถึงภาครัฐยังไม่มีการจัดระบบดูแล และจัดการอย่างชัดเจน ทำให้ยังเห็นผู้ป่วยจำนวนมาก กลายเป็นคนร่อนเร่ตามท้องถนน และบางคนยังอาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่นได้
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง