นักโบราณคดีห่วง "อารยธรรมกรีก" หลังรัฐบาลตัดงบประมาณดูแล

Logo Thai PBS
นักโบราณคดีห่วง "อารยธรรมกรีก" หลังรัฐบาลตัดงบประมาณดูแล

อารยธรรมกรีกอันเป็นต้นธารแห่งวัฒนธรรมตะวันตกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเพราะปัญหาเศรษฐกิจในประเทศกรีซ ทำให้รัฐบาลต้องตัดงบประมาณด้านวัฒนธรรมส่งผลให้โบราณสถานในกรุงเอเธนส์ขาดการดูแล จนนักโบราณคดีห่วงว่า สมบัติชาติกำลังตกอยู่ในอันตราย

วิหารพาร์เธนอนบนเนินอะโครโพลิสที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้หลายล้านคนต่อปีในฐานะสถาปัตยกรรมกรีกโบราณที่โด่งดังและเก่าแก่ที่สุด คือหนึ่งในตัวอย่างที่กลุ่มนักโบราณคดีชาวกรีก ออกมาเรียกร้องให้ทางการดูแล หลังจากนักโบราณคดีและยามรักษาความปลอดภัยถูกเลิกจ้างเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในปีที่แล้ว นำมาซึ่งปัญหาการลักลอบขุดสมบัติและการขโมยของจนพิพิธภัณฑ์หลายแห่งต้องปิดตัว

สาเหตุหลักของปัญหามาจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของกรีซทำให้รัฐบาลตัดทอนงบประมาณด้านวัฒนธรรม ลงร้อยละ 35 ตั้งแต่เมื่อ3 ปีก่อน จนบุคลากรในกระทรวงวัฒนธรรมมากกว่า 2,000 คนถูกปลด ขณะที่ในปีนี้มีแผนจะเลิกจ้างบุคลากรอีกราว 15,000 คน รวมทั้งลดเงินเดือนผู้ที่เหลืออยู่

โดยปัจจุบันกรีซมีนักท่องเที่ยวประมาณ 17,500,000 คนต่อปีทำเงินรายได้ประมาณร้อยละ 15 ของรายได้ในประเทศ และมีแรงงานอยู่ในภาคธุรกิจมากถึงร้อยละ 16.5 โบราณสถานต่าง ๆ เหล่านี้จึงไม่ได้เป็นแค่การดูแลแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญของโลก แต่หากโบราณสถานต่างๆ ของกรีซได้รับความเสียหายจะทำลายแหล่งรายได้สำคัญของชาติด้วย

สมาคมนักโบราณคดียังรณรงค์ด้วยการติดสติกเกอร์แสดงความเห็นด้วยและต่อต้านการตัดงบประมาณ โดย Despoina Koutsouba ประธานสมาคมนักโบราณคดี บอกว่า พิพิธภัณฑ์ที่ไม่ได้เปิดให้สาธารณะเข้าชมไม่ต่างอะไรจากห้องเก็บของ ซึ่งเธอเปรียบสภาพการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมในขณะนี้ว่า เหมือนถูกตัดทอนจนเหลือเพียงส่วนหัวหากสูญเสียนักโบราณคดีหรือยามไปอีกแม้แต่คนเดียวเหมือนกับการตัดหัวรูปปั้นเฮอร์เมสแห่งแพร็กซิเตเลสอันโด่งดัง

นอกจากนี้ร้อยละ 80 ของงบประมาณกระทรวงวัฒนธรรมกรีซ จะใช้จ่ายไปกับการขุดค้นซากโบราณคดีการฟื้นฟูและบำรุงรักษาก่อนการถูกตัดงบจึงกระทบกับโบราณสถานและแหล่งอารยธรรมโบราณที่มีอยู่เกือบทั้งประเทศโดยตรง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง