ผลตรวจสอบไม่พบรอยรั่วในท่อรวบรวมน้ำเสีย กทม.

20 มี.ค. 55
13:38
9
Logo Thai PBS
ผลตรวจสอบไม่พบรอยรั่วในท่อรวบรวมน้ำเสีย กทม.

ผลการตรวจสอบของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยใช้เครื่องโรบอทสำรวจเส้นท่อ ไม่พบรอยรั่วภายในท่อรวบรวมน้ำเสียที่เป็นสาเหตุทำให้ถนนพระราม 4 ทรุดตัว ขณะที่การใช้เครื่องวิเคราะห์คลื่นพื้นผิวเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้สำรวจ และทำให้ทราบว่าบริเวณใด ที่เกิดรูโพรงใต้พื้นถนนได้

เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานครส่งเครื่องโรบอทสำรวจเส้นท่อลงไปในท่อพักน้ำเสียถนนพระราม 4 ในความลึก 6 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อ 60 เซนติเมตร ซึ่งกล้องอินฟาเรตที่ติดตั้งอยู่กับตัวเครื่องแสดงให้เห็นภาพแนวท่อน้ำเสียในจุดที่ใกล้เคียงกับแนวถนนที่เกิดการทรุดตัวมากที่สุด

ทันทีที่ตัวเครื่องเคลื่อนผ่านไปได้ระยะทางกว่า 25 เมตร ซึ่งตรงกับจุดที่เกิดเหตุ ภาพบนจอ ก็ไม่พบสิ่งผิดปกติ เช่น รอยรั่วซึมภายในท่อแต่อย่างใด ทำให้นายอดิศักดิ์ ขันตี รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำมั่นใจว่าท่อน้ำเสียของ กทม.ไม่ได้เป็นสาเหตุการทรุดตัวของถนนพระราม 4

เครื่องโรบอทตัวนี้เตรียมนำมาใช้ในการตรวจสอบรอยรั่วภายในอุโมงค์พระราม 4 ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่ง ที่อาจจะเป็นสาเหตุของถนนทรุด แต่เนื่องจากขนาดอุโมงค์พระราม 4 ลึกจากผิวถนนกว่า 8 เมตร และมีระยะทางหัวลำโพงถึงสถานีสูบน้ำวัดช่องลม ก็อาจเป็นอุปสรรคในการตรวจสอบหารอยรั่ว แม้ว่าก่อนหน้านี้ท่อประปาของ กปน.ซึ่งอยู่ลึกว่าผิวถนนเพียง 2 เมตร และอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินจะอยู่ลึกที่สุด 25 - 30 เมตร จะถูกยืนยันว่าไม่เกิดการรั่วซึมก็ตาม

การสาธิตวิธีการตรวจสอบความเสี่ยงการทรุดตัวของถนน โดยใช้เครื่องวิเคราะห์คลื่นพื้นผิว จะทำให้ทราบถึงความผิดปกติของพื้นใต้ถนนได้ ซึ่งเครื่องจะส่งสัญญาณคลื่น โดยการเคาะจากชั้นพื้นผิวลงไป สู่พื้นด้านล้างลึกลงไปในชั้นใต้ดิน หากชั้นดินเป็นปกติ กราฟที่แสดงผลจะลดลงในระดับเดียวกันอย่างต่อเนื่อง โดยค่าปกติทั่วไปจะอยู่ที่ 8 - 10 กิ๊กกะพาสแคล แต่ถ้าพบว่าพื้นมีรูโพรง คลื่นจะสะท้อนขึ้นมาอย่างรวดเร็ว กราฟที่แสดงจะแบ่งช่วงอย่างชัดเจน นั่นหมายถึงถนนช่วงนั้นมีความเสี่ยงต่อการทรุดตัว

ผศ.บุญชัย แสงเพชรงาม อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้ถนนหลายสายใน กทม.จะมีแนวระบบท่อสาธารณูปโภคอยู่ใต้ดินจำนวนมาก แต่รูปแบบการก่อสร้างยังถือว่ามั่นคง แข็งแรง แต่ปัจจัยที่อาจทำให้ถนนทรุดตัวอาจมาจากระบบอุโมงค์ที่ก่อสร้างมานาน ทำให้รูปแบบโครงสร้างเปลี่ยนแปลง รวมถึงท่อประปาที่มีการรั่วซึมของน้ำในชั้นใต้ดิน

กรุงเทพมหานครเตรียมลงตรวจสอบถนนที่มีความเสี่ยงต่อการทรุดตัว โดยเฉพาะถนนที่อยู่ติดกับคลอง หรือคูระบายน้ำ อาทิ ถนนริมคลองผดุงกรุงเกษม ถนนพระราม 3 และ ถนนสาธร เพื่อดูแข็งแรงทนทาน ในวันพรุ่งนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง