สวัสดิการตั้งแต่เกิดยันตาย “เราทำได้” คำยืนยันจากกลุ่มออมทรัพย์..

20 มี.ค. 55
16:48
22
Logo Thai PBS
สวัสดิการตั้งแต่เกิดยันตาย “เราทำได้” คำยืนยันจากกลุ่มออมทรัพย์..

ระบบรัฐสวัสดิการ เป็นระบบที่ใครหลายคนฝันหา แต่มันก็เกิดได้ยากยิ่งไม่ว่าในรัฐไหนๆ และประสบปัญหามากมาย แต่สำหรับพื้นที่เล็กๆ อย่าง ต.คลองเปียะ อ.จะนะ จ.สงขลา คนที่นี่ได้รับสวัสดิการที่ดี มีเงินออม จนมีคนไปดูงาน ร่วมศึกษาแลกเปลี่ยนมากมาย

อัมพร ด้วงปาน หรือที่ใครๆ เรียก “ลุงอัมพร” จนติดปาก เป็นตัวแทนที่มาเล่าประสบการณ์การบริหารจัดการเงิน – สวัสดิการในพื้นที่ ภายในงาน “ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่น สู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย” ครั้งที่ 2  โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ลุงอัมพรเล่าว่า การออมที่เริ่มต้นจากชุมชน สามารถนำไปสู่ความเข้มแข็งและการพึ่งพาตนเองของชุมชนได้จริง ถึงแม้รัฐบาลยกเลิกสวัสดิการใดๆ ก็ไม่กระทบกระเทือน เพราะชุมชนท้องถิ่นที่นี่ได้เตรียมพร้อม ดูแลกันเองได้ทุกด้านแล้ว เช่น ทุกวันนี้ในพื้นที่มีกองทุนการศึกษา กองทุนผู้ทุพลภาพ กองทุนสำหรับผู้ประสบไฟไหม้ กองทุนผู้ได้รับการเจ็บป่วยฯ

ที่ผ่านมาจะมีคนถามลุงเยอะถึงสถานภาพความน่าเชื่อถือกลุ่มออมทรัพย์ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย

“ลุงตอบเขาไปเลยว่า คำตอบอยู่ที่มึงกะกู  ถ้ามึงซึ่งเป็นสมาชิกปฏิบัติตามกติกา กูเป็นกรรมการไม่โกง มันก็ไม่ล้ม แต่ปัญหาในที่อื่นๆ ส่วนใหญ่อยู่ที่กรรมการ” ลุงอัมพรกล่าวพร้อมเรียกเสียงฮาจากผู้ฟังทั้งห้อง

เป้าหมายของการทำงานของกลุ่มออมทรัพย์ก็ชัดเจน คือ 1.ทำให้เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา มีรายได้เป็นเงินเดือนเหมือนข้าราชการ 2.ทำให้คนเหล่านี้มีสวัสดิการดูแลตั้งแต่เกิดจนตายในทุกมิติ  3.สร้างระบบ “บำนาญ” ให้กับผู้สูงอายุ โดยระบบนี้จะกระจายอำนาจให้ถึงระดับหมู่บ้าน และผลักดันการออมในทุกหมู่บ้าน ซึ่งจะมีการฝากเงินกันทุกวันที่ 1 ของเดือน

ส่วนการพัฒนาการออมไปสู่สถาบันการเงินนั้น อัมพรเห็นด้วยและคิดว่าเป็นไปได้ไม่ยาก เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังเช่นพื้นที่ของเขานั้นเป็น “ของจริง” เป็นหยาดเหงื่อชาวบ้านจริงๆ  7,000 กว่าคน โดยที่นี่ไม่เน้นการกู้ แต่เน้นการออมเป็นหลัก หากใครต้องการกู้ก็ถือว่าเป็นการกู้เงินตัวเอง หรือเป็นหนี้จากเงินออม ออมไว้เท่าไรก็กู้ได้เท่านั้น แต่สวัสดิการทุกอย่างยังได้เหมือนเดิม เพราะไม่ขาดจากการเป็นสมาชิก

“เราส่งเสริมการออมจนกระทั่งมันเป็นวินัย เป็นวิถีชีวิตของคนคลองเปียะแล้ว  ไม่ออมอยู่ไม่ได้ เพราะเขาออมกันหมด” อัมพรกล่าว พร้อมสรุปว่าทุกวันนี้กลุ่มออมทรัพย์คลองเปียก มีกำไร 27 ล้านบาทเศษ โดยจะตัดค่าบริหารจัดการจำนวน 5เปอร์เซ็นต์ ให้กรรมการซึ่งมีทั้งสิ้น  46 คน

ขณะที่วงสัมมนาต่อมาอภิปรายกันในหัวข้อ “สถาบันการเงินชุมชนคือเครื่องมือจัดสวัสดิการสังคมโดยชุมชน” โดย เสก เกิดทรัพย์  ผู้จัดการกลุ่มออมทรัพย์ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้อธิบายให้เห็นถึงการประยุกต์แนวคิดกลุ่มออมทรัพย์เข้ากับวัฒนธรรมของชาวมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งประสบปัญหาอย่างหนักเกี่ยวกับการสูญเสียที่ดินจากกู้ยืมเงินนายทุนในพื้นที่ กลุ่มออมทรัพย์เกิดขึ้นเพื่อพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวในปี 2540 โดยมีเงินตั้งต้นไม่ถึงสามหมื่นบาท ขณะที่ปัจจุบันมีเงินสะสมประมาณ 40 ล้านบาท

“เราใช้ระบบอิสลาม เราไม่ได้ให้กู้  เพราะเราทำได้แค่ธุรกิจ  เราไปซื้อของที่เขาต้องการแล้วขายเอากำไร เพราะตามหลักอิสลามแล้วเราคิดดอกเบี้ยไม่ได้ ตอนนี้ที่ดินที่ชาวบ้านเคยเอาไปขายในอดีต อยู่กับเราประมาณ 90 แปลง เราซื้อกลับมาจากนายทุน แล้วให้เจ้าของผ่อนเอากลับไป ปัจจุบันเอากลับไปได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์” เสกกล่าว

 

ด้านเอ็นนู  ซื่อสุวรรณ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 กล่าวว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เองก็มีจุดเริ่มต้นคล้ายๆ กลุ่มออมทรัพย์ที่ต้องการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อแก้ปัญหาที่ดินหลุดจากมือชาวบ้าน แต่เมื่อระบบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องไปอยู่ในกฎเกณฑ์ต่างๆ สร้างมาตรฐานหนึ่งเดียว โดยที่ไม่สามารถทำให้เหมาะกับวิถีชีวิตคนแต่ละคนได้หรือแต่ละพื้นที่ได้  เขายังระบุด้วยว่า การกระจายอำนาจในทางการคลังนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเมื่อคุมเงินได้ก็คุมทุกอย่างได้

“ต้องกระจายอำนาจการจัดการทางการเงิน ซึ่งต้องมีกระบวนการ ขั้นตอนการเรียนรู้ที่ผ่านแผนการทำงานจริง และมีการตรวจสอบความโปร่งใสระหว่างกรรมการและสมาชิก สำคัญที่สุด เป้าหมายไม่ใช่ตัวเลขกำไร แต่เป็น “ประโยชน์” + “สุข” ของประชาชนในพื้นที่” เอ็นนูกล่าว พร้อมระบุว่าสิ่งที่ต้องเร่งสนับสนุนท้องถิ่นคือ ระบบการจัดการ เพื่อจะช่วยให้ตรวจทานได้ เนื่องจากสร้างความโปร่งใสเป็นหัวใจสำคัญทำให้ชาวบ้านเชื่อถือ

ขณะที่สุกานดา ลูวิสอาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มออมทรัพย์ในหลายพื้นที่ ตั้งข้อสังเกตว่า นอกเหนือจากลักษณะเฉพาะในการบริหารจัดการในพื้นที่แต่ละลักษณะแล้ว จะพบว่ากลุ่มออมทรัพย์หลายแห่งที่ประสบความสำเร็จนั้นมักจะเด่นเรื่อง “วิสาหกิจชุมชน” โดยสามารถวิเคราะห์ได้ว่าท้องถิ่นมีจุดเด่นอะไร และนำเอาจุดเด่นตรงนั้นมาสร้างรายได้

“เขาไม่ได้ทำเฉพาะออมทรัพย์อย่างเดียว แต่ทำวิสาหกิจชุมชนด้วย ในหลายพื้นที่เงินมาจากวิสาหกิจมากกว่าออมทรัพย์ด้วยซ้ำ แต่ไม่ใช่ทุกที่จะประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องไปลอกคนอื่นมา..สำหรับความท้าทายต่อการจัดสวัสดิการในอนาคต ต้องดูเรื่องความเสี่ยงก่อน ว่าเงินที่มีอยู่นั้นเพียงพอหรือไม่ต่อการจัดสวัสดิการในระยะยาวเรียกง่ายๆ ว่าอย่าสัญญามากเกินไป” สุกานดากล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง