เผยข้อมูล อย.พบน้ำเข้า "ซูโดอีเฟดรีน" กว่า 7.6 หมื่นกิโลกรัมในรอบ 3 ปี

สังคม
23 มี.ค. 55
13:39
21
Logo Thai PBS
เผยข้อมูล อย.พบน้ำเข้า "ซูโดอีเฟดรีน" กว่า 7.6 หมื่นกิโลกรัมในรอบ 3 ปี

มีตัวเลขจากทางตำรวจที่เข้าตรวจสอบกรณีการยักยอก และ ลักลอบซื้อขายยาแก้หวัดประเภทซูโดอีเฟดรีนว่า ตั้งแต่ปี 2553 มีการสั่งซื้อยาประเภทนี้จากต่างประเทศจำนวนมาก และ หลายครั้งพบมีการสั่งจ่ายยาและไม่เข้าสู่ระบบโรงพยาบาล ซึ่งล่าสุดโรงพยาบาลที่กำลังถูกตราวจสอบคือที่โรงพยาบาลนวมินทร์

โรงพยาบาลนวมินทร์และโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ย่านมีนบุรี เป็น 2 โรงพยาบาลล่าสุดที่กำลังถูกตรวจสอบการสั่งซื้อและจ่ายยาซูโดอีเฟดรีน หลังคณะทำงานได้ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ว่า พบความผิดปกติโดยโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งซึ่งอยู่ในเครือเดียวกันอ้างว่า สั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีนจากบริษัทโอสถอินเตอร์แล็บเบอรี่จำกัดจำนวน 303,500เม็ด แต่ข้อมูลที่ อย. ตรวจพบ คือโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งสั่งซื้อยาจำนวนถึง 650,000 เม็ด และพบข้อพิรุธ เนื่องจากสั่งยาหลายครั้งมีจำนวนและวันที่ซ้อนกันเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากโรงพยาบาลพบว่า จ่ายยาซูโดอีเฟดรีนให้ผู้ป่วยรวม 185,000 เม็ด เหลือยาอยู่ในคลัง 159,000 เม็ด ซึ่งจำนวนยาไม่ตรงกับข้อมูลของ อย. และ หายไปมากกว่า 300,000 เม็ด

ข้อมูลของ อย. ยังพบว่า การสั่งซื้อยามีลักษณะซ้ำซ้อนกันหลายครั้ง เช่น วันที่ 24 มิถุนายน 2554 สั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีนจำนวน 100,000 เม็ดถึง 2 ครั้ง ในวันเดียวกัน แต่หลักฐานการจ่ายเช็คของโรงพยาบาลระบุว่า จ่ายเพียงครั้งเดียวซึ่งแต่ละครั้งที่โรงพยาบาลจะสั่งซื้อยาครั้งละ 50,000 - 100,000 เม็ด

ขณะที่ผู้บริหารของโรงพยาบาล ยืนยันว่า มีเอกสารการสั่งจ่ายยาที่ถูกต้องและตรวจสอบได้ทั้งหมดโดยมอบให้เจ้าหน้าที่ไปหมดแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ อย. จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อตรวจสอบกับบริษัทโอสถอินเตอร์แล็บเบอรี่จำกัดผู้ขายยาให้กับโรงพยาบาล

ด้าน พล.ต.ท.จรัมพร สุรมณี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยผลการตรวจสอบกรณียาแก้หวัดหายไปในพื้นที่ต่าง ๆ พบในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด ส่วนการตรวจสอบการนำเข้ายาซูโดอีเฟดรีนจากต่างประเทศ โดยจะมีการประสานข้อมูลกับกรมศุลกากร ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่า ในปี 2553 มียอดการสั่งยาซูโดอีเฟดรีนเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 39,062 กิโลกรัม , ปี 2554 จำนวน 25,400 กิโลกรัม และปี 2555 จำนวน 12,000 กิโลกรัม ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าว พบว่า เมื่อยาซูโดอีเฟดรีนถูกประกาศเป็นยาห้ามซื้อขายจึงทำให้มีจำนวนตัวเลขสั่งเข้ามาลดน้อยลง แต่ความต้องการของกลุ่มเครือข่ายยาเสพติดที่ต้องการนำยาซูโดอีเฟดรีนไปเป็นสารตั้งต้นผลิตยาบ้ามีมากขึ้น จึงเป็นช่องการการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ

ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังยืนยันข้อมูลตรงกับนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุขว่า พบเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหลายแห่งเกี่ยวข้องและพบคนสนิทของข้าราชการระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวข้องด้วย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง