ดีเอสไอรับคดียาแก้หวัดหายเป็นคดีพิเศษ เตรียมประสานทุกหน่วยงานสางคดี

อาชญากรรม
26 มี.ค. 55
12:26
26
Logo Thai PBS
ดีเอสไอรับคดียาแก้หวัดหายเป็นคดีพิเศษ เตรียมประสานทุกหน่วยงานสางคดี

อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเตรียมนำ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ มาดำเนินคดีการพบพิรุธยาแก้หวัดซูโดอีเฟดรีน จำนวนมากที่หายไปจากระบบโรงพยาบาลรัฐหลายแห่ง ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งคณะทำงานร่วมหลายหน่วยงาน ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อป้องกันการนำยาแก้หวัดซูโดอีเฟดรีนไปใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด

การประชุมคณะทำงานร่วมเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและปราบปรามการนำยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้ พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.)  และกรมศุลกากร เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำสารซูโดอีเฟดรีน ไปเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด ตั้งแต่ต้นทางการนำเข้าสารซูโดอีเฟดรีน ทั้งชนิดเดี่ยว และที่เป็นส่วนผสมของยาแก้หวัด

แม้ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข จะมีมาตรการตรวจสอบเข้มงวด แต่ก็มีช่องว่างรั่วไหล ฉะนั้น ตำรวจจะเข้าไปช่วยดูแลตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด รวมทั้งขยายผลยึดทรัพย์ นอกจากนี้ จากข้อมูลของกรมศุลกากร พบว่า แต่ละปีมีการลักลอบนำเข้ายาที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนจากประเทศเพื่อนบ้านทางภาคใต้จำนวนมาก ทั้งนี้ หากคณะกรรมการคดีพิเศษ จะรับคดีการรั่วไหลของยาแก้หวัดที่มีสารซูโดอีเฟดรีนเป็นคดีพิเศษ ทางตำรวจไม่ขัดข้อง ซึ่งจะมีการทำงานบูรณาการร่วมกันต่อไป

ด้านนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า มีข้อมูลที่เชื่อได้ว่า น่าจะมีความเชื่อมโยงกับบุคคลใกล้ชิดข้าราชการประจำระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข แต่ยังไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจนจนสามารถเอาผิดได้

ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษในวันนี้มีมติเอกฉันท์ ให้กรณียาแก้หวัดซูโดอีเฟดรีน เป็นคดีพิเศษ โดยจากนี้ไปดีเอสไอจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การทำงานบูรณาการร่วมกันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยมีเป้าหมายเร่งด่วน คือการตรวจสอบสถานที่เวชกรรม คลีนิก 22 แห่ง แบ่งเป็นเอกชน 11 แห่ง และรัฐบาล 11 แห่ง เนื่องจากพบการสั่งจ่ายยาซูโดอีเฟดรีนมากกว่าปกติ แต่ทั้งนี้ต้องรอการตรวจสอบอย่างละเอียด

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายจังหวัดที่จะต้องลงพื้นที่ไปตรวจสอบ เช่น จ.อุดรธานี, จ.อุตรดิตถ์, จ.นครปฐม และ จ.ราชบุรี ซึ่งการตรวจสอบที่ผ่านมา ยังไม่สามารถระบุได้ว่าความผิดเชื่อมโยงกับผู้บริหารระดับสูง ตามที่เคยปรากฏเป็นข่าวหรือไม่ ส่วนคดีที่พบซองยาที่แกะแล้วถูกทิ้งไว้ในพื้นที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ รวมถึงสามารถยึดยาซูโดอีเฟรีนได้กว่า 1.2 ล้านเม็ด เบื้องต้นพบว่า เป็นยาจากโรงพยาบาลของรัฐ 3 แห่ง, โรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง, ร้านขายยา 1 แห่ง และคลีนิก 8 แห่ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง