ความเห็นต่างแนวทางปรองดอง

การเมือง
29 มี.ค. 55
03:14
8
Logo Thai PBS
ความเห็นต่างแนวทางปรองดอง

รายงานสรุปการสร้างความปรองดอง ของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งยังมีความพยายามต่อเนื่องจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ที่ต้องการให้มีการถอนผลสรุปแนวทางปรองดองฉบับนี้เพื่อพิจารณาใหม่ ขณะที่นักวิชาการ มองไปในทิศทางเดียวกันว่า การเร่งรีบในการเสนอแนวทางปรองดองอาจเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต

ในระหว่างการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา เพื่อพิจารณาว่าจะให้สภาพผู้แทนราษฎร รับหรือไม่รับรายงานสรุปการสร้างความปรองดอง ของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา การที่มี ส.ส.จำนวนมากที่เข้ารุมล้อม ประธานกรรมาธิการ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ผลสรุปรายงานครั้งนี้อาจเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ แต่ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลับมองในทิศทางตรงกันข้าม ที่เห็นว่าเวทีรัฐสภา จะเป็นเวทีที่เป็นทางออกที่ดีสำหรับความปรองดอง แต่ยังต้องมีขั้นตอนอีกมาก โดยเฉพาะการกำหนดรายละเอียดอื่นๆ

ส่วนพรรคฝ่ายค้าน โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดท่าทีให้ชัดเจน เพื่อแสดงความรับผิดชอบ หากผลักดันแนวทางการสร้างความปรองดองแล้วเกิดเหตุวุ่นวายในอนาคต สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.สุริชัย หวันแก้ว; ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพ ที่ย้ำเตือนถึงการวางแนวางการสร้างความปรองดอง ว่าต้องรอบคอบเพื่อรักษาสะพานเชื่อมต่อระหว่างกันไว้ แทนการเร่งรีบจนกลายเป็นสงครามปรองดอง

ด้าน ศจ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงปัญหาของการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยระบุว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากการเลือกพิจารณาเพียงบางประเด็นจากผลสรุปแนวทางการปรองดอง ไม่ต่างจากข้อพิจารณาในเรื่องอื่นๆ ในอดีตที่ผ่านมาที่ยึดเอาความคิดของแต่ละฝ่ายเป็นหลัก

ดังนั้นจึงควรส่งเสริม และสนับสนุนการขยายพื้นที่ทางสิทธิเสรีภาพให้กว้างขึ้น โดย 5 สถาบันทางวิชาการ คือ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), สถาบันพระปกเกล้า, สถาบันวิจัยสังคม, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้อาสาที่จะใช้เสรีภาพในลักษณะทางวิชาการ เพื่อประโยชน์ และสร้างสรรค์ โดยปราศจากอคติให้ครอบคลุม 8 ประการ คือ 1.เสรีภาพในสังคมไทย 2.จะแก้ปัญหาความเกลียดชังในสังคม 3.วางมิติการแก้ไขความเหลื่อมล้ำในสังคม 4.กระบวนการยุติธรรมกับประเทศไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน 5.นโยบายประชานิยม 6.ความคิดชาตินิยม 7.แสวงหาจุดร่วมความพอดีของเสรีภาพในการประท้วง และ 8.สถาบันกษัติริย์ในสังคมเสรีประชาธิปไตยในยุคข้อมูลข่าวสารโลกาภิวัฒน์ สำหรับผลการสรุปแนวคิดปรองดองของคณะกรรมาธิการฯ ชัดเจนแล้วว่า จะถูกนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ ในวันที่ 4 เมษายน และเปิดอภิปรายได้ 2 วัน โดยต้องอภิปรายจบในวันที่ 5 เมษายนนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง