ไทยพีบีเอส-ม.กรุงเทพ เปิดเวทีแนะใช้ “โซเชียล มีเดีย” ในภาวะวิกฤต มีสติตรวจสอบก่อนคลิก

Logo Thai PBS
ไทยพีบีเอส-ม.กรุงเทพ เปิดเวทีแนะใช้ “โซเชียล มีเดีย” ในภาวะวิกฤต  มีสติตรวจสอบก่อนคลิก

ระบุ การใช้สื่อโซเชียล มีเดีย ถือเป็นพลังทางสังคมที่สำคัญแต่ก็มีความอ่อนไหวสูงในการที่จะเพิ่มวิกฤต หรือคลี่คลายวิกฤต ขณะที่ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หวั่นหากใช้เป็นเครื่องมือในภาวะวิกฤต ต้องเฝ้าระวังอย่างมาก เพราะมีการสอดแทรกด้านอารมณ์เข้าไปอย่างมาก ด้าน นายกสมาคมนักข่าวนักฯ ชี้ให้ระวังการโพสต์ข้อมูล หลายเรื่องควรระบุ "เวลา" ให้ชัดเจน ป้องกันสับสนและเรียงลำดับเหตุการณ์ถูกต้อง

นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวในงานเสวนา “โซเชียล มีเดียทางเลือกใหม่ ? ของการรายงานข่าวในภาวะวิกฤต ” ว่า โซเชียล มีเดียเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารที่มีส่วนสำคัญในปัจจุบันอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยฝ่าฟันวิกฤต หรือเพิ่มวิกฤตให้กับสังคม  ทั้งนี้ อาชีพผู้สื่อข่าว และนักข่าวพลเมือง รวมถึงบุคคลทั่วไป จึงต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ให้รอบด้าน และถี่ถ้วนมากที่สุด โดยการตรวจสอบข้อมูลจากหลายๆ ทางนำมาผสมผสานกัน

นายก่อเขต กล่าวว่า ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นประเภทสื่อเก่า หรือสื่อใหม่ ทั้้งวิทยุ โทรทัศน์ เว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ ถูกนำมาหลอมรวมด้วยการส่งผ่านข้อมูลระหว่างสื่อ ทำให้เกิดการรับรู้ในเป็นวงกว้างในสังคม แตกต่างจากอดีตที่สื่อเก่า เป็นหลัก ในการชี้นำทิศทางสังคม

ด้านนายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยังไม่อาจระบุได้ว่า โซเชียล มีเดีย จะเป็นทางเลือกใหม่ในรายงานข่าวในภาวะวิกฤตได้อย่างแท้จริง เนื่องจากยังพบว่ามีการใช้อารมณ์ ด้วยทัศนคติ และความรู้สึกอคติเข้ามามีส่วนอย่างสูงในการแจ้งบอกข่าว  ยิ่งในภาวะวิกฤตยิ่งส่งผลกระทบต่อสังคม ดังนั้น ยังไม่อาจวางใจได้  ดังนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรที่จะกำหนดกฎระเบียบ กติกาในการใช้โซเชียล มีเดียให้เกิดประโยชน์และเหมาะสมที่สุด
 
ขณะที่นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า องค์กรวิชาชีพสื่อต่าง ๆ บุคคลทั่วไปจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความละเอียด รอบคอบ ในการรายงานข่าวผ่านโซเชียล มีเดีย มากขึ้น ทั้งการระบุถึงวัน-เวลาและแหล่งข่าวที่ชัดเจน เนื่องจากจุดอ่อนของโซเชียล มีเดียที่สามารถเผยแพร่ข้อความ รูปภาพไปยังเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากไม่ระบุรายละเอียดดังกล่าวจะส่งผลให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงและส่งผลในเชิงลบมากกว่าจะเกิดประโยชน์

จากข้อมูล พบว่า ทั่วโลกมีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊คประมาณ 800 ล้านคน ทวิตเตอร์ 250 ล้านคน ขณะที่ในประเทศไทย มีผู้ใช้เฟซบุ๊ค 13 ล้านคน ซึ่งมีผู้ใช้ประมาณ 3 ล้านคนที่ใช้งานอย่างต่อเนื่อง และมีผู้ใช้ทวิตเตอร์ 8 แสนคน โดยมีผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ประมาณ 1 แสนคน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง