ปฏิรูประบบการเมือง พัฒนาความเข้มแข็งของประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย

31 มี.ค. 55
05:25
16
Logo Thai PBS
ปฏิรูประบบการเมือง พัฒนาความเข้มแข็งของประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย

โดย คณะกรรมการการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาอย่างยาวนานถึง 80 ปี  หากแต่ตลอดระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลง และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยในอดีตนั้นกลับมีการเบียดแทรกของเผด็จการ และมีการปฏิวัติรัฐประหารหลายครั้ง โดยกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่อ้างถึงความเดือดร้อนของประชาชน และความไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ในอดีตที่ผ่านมาประชาชนชาวไทยแทบไม่ได้เข้าไปมีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในทางการเมืองแต่อย่างใด ซึ่งอำนาจส่วนใหญ่นั้นกลับไปตกอยู่ในมือของกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม และอยู่ในฝ่ายบริหาร หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งอำนาจทางการเมืองของประชาชนที่ได้รับนั้นมีสิทธิเพียงแค่การเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งในบางครั้งการเลือกตั้งดังกล่าวก็กลับมีข้อสงสัยในเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรมอีกด้วย

ต่อมาคนไทยก็ได้รัฐธรรมนูญขึ้นมาอย่างเป็นทางการหลากหลายฉบับ และทุกๆ ฉบับก็ได้เน้นให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และใช้อำนาจในฐานะประชาชนของตนเองให้ได้อย่างชัดเจน โดยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 87 มาตรา 164 และมาตรา 165 ก็ระบุสิทธิหน้าที่ และอำนาจของประขาชนไว้ ซึ่งได้ระบุไว้ให้มีส่วนร่วมทางการเมือง และการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองในหลากหลายรูปแบบ  

ตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมานั้นประชาชนคนไทยมีการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมากทั้งในเชิงรูปแบบและความเข้มข้น โดยเฉพาะการใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ซึ่งการเข้าไปมีส่วนร่วมในลักษณะต่างๆ นี้จะเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่จะต้องขยายหรือทำกิจกรรมให้เข้มข้นต่อไปเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ดีในอนาคต
   
สังเกตได้จากการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาประชาชนคนไทยมีแนวโน้มที่จะออกไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง และเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสูงขึ้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งในกทม.และต่างจังหวัดออกไปใช้สิทธิกันค่อนข้างสูง ประชาชนคนไทยให้ความสนใจกับผู้สมัครในการรับเลือกตั้งอย่างละเอียดทั้งเรื่องของนโยบาย ความซื่อสัตย์และการแก้ปัญหาชุมชน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ยังสามารถใช้พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าคนไทยส่วนใหญ่นั้นยังให้การสนับสนุนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และมีความเชื่อมั่นกันอย่างชัดเจนว่าประชาชนธรรมดาก็สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้
   
ทั้งนี้ การเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงองค์ประกอบพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น หากแต่แท้จริงแล้วประชาธิปไตยนั้นควรสร้าง และเริ่มจากชุมชนท้องถิ่น โดยการปฏิรูปการเมืองนั้นจะต้องเริ่มจากการสร้างฐานรากประชาธิปไตยที่เข้มแข็งจากชุมชนท้องถิ่น  และเริ่มจากการพัฒนาความเป็นพลเมือง โดยต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองทุกระดับ  การจัดประชุมสมัชชาปฏิรูปประเทศครั้งที่สองก็ได้มีร่างมติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “การปฏิรูประบบการเมือง : พัฒนาความเข้มแข็งพลเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย”
   
โดยร่างมติขอคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูประบุอย่างชัดเจนว่า การปฏิรูประบบการเมืองเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งพลเมืองนั้นจะต้องมีการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน โดยลดอำนาจของราชการส่วนกลางให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการตนเองได้ทั้งในเรื่องภารกิจและงบประมาณ โดยขอให้รัฐบาลมอบหมายให้คณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นแกนประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคีเครือข่ายและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายชุมชนและภาคประชาสังคมดำเนินการ ปรับปรุงกฏหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เกิดการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง ทั้งในเรื่องของภารกิจและงบประมาณ และปรับปรุงกฏหมายและระเบียบของกระทรวงมหาดไทยทุกฉบับ ที่ว่าด้วยเรื่องของการเกี่ยวข้องกับสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือชุมชน ในการบริหารกิจการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
   
ข้อเสนอดังกล่าวนี้จะถูกนำมาพิจารณาอย่างเป็นรูปธรรมพร้อมๆ กับข้อเสนอในอีกกหลากหลายประเด็น และนอกจากนี้แล้วยังมีประเด็นอีกมากมายที่จะถูกนำเสนอในเวทีสมัชชาปฏิรูปครั้งที่ 2 โดยประเด็นต่างๆ ที่จะถูกนำมาหารือในครั้งนี้นั้นล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่จะช่วยสร้างและปฏิรูปให้ประเทศไทยเข้มแข็งและยั่งยืนได้อย่างแท้จริง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง