"ปฏิรูปสื่อ" ข้อเสนอภาคปชช.ปรับตัวรับสื่อใหม่ยุคดิจิทัล วัดกันที่เนื้อหา ยกระบบสื่อจะต้องปฏิวัติคนทำสื่อ

สังคม
31 มี.ค. 55
07:24
25
Logo Thai PBS
"ปฏิรูปสื่อ" ข้อเสนอภาคปชช.ปรับตัวรับสื่อใหม่ยุคดิจิทัล วัดกันที่เนื้อหา ยกระบบสื่อจะต้องปฏิวัติคนทำสื่อ

สำนักงานปฏิรูป ได้ร่วมกับมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษาจัดประชุมเพื่อระดมข้อเสนอต่อการขับเคลื่อนขบวนการภาคพลเมือง เพื่อการปฏิรูปสื่อ และปฏิรูปสังคมในหัวข้อ “ปฏิรูปสื่ออย่างไร ให้ปฏิรูปสังคม” โดยภาคีเครือข่ายภาคประชาชน และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนเข้าร่วมในการประชุมเป็นจำนวนมาก

นายวีระพล เจริญธรรม ผู้แทนจากสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า   สิ่งที่เราจะต้องทำการปฏิรูปสื่อครั้งใหม่ คือเราต้องการมีเครื่องมือ และยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยปฏิรูปเครือข่ายชาวบ้าน ให้เข้มแข็งเพราะชาวบ้านหลากหลายพื้นที่ก็ใช้สื่อเพื่อประโยชน์ในชุมชนของตนเอง และถึงแม้เวลานี้จะมีกฏหมายหลายฉบับที่สนับสนุนให้เกิดสื่อสาธารณะแต่การสื่อสารสาธารณะก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ ตนไม่อยากให้มองเห็นสื่อเป็นเครื่องมือ แต่อยากให้มองเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่มีประโยชน์สามารถช่วยพัฒนาชุมชนและชาวบ้านให้เข้มแข็งได้  การปฏิรูปสื่อที่สำคัญที่สุดนั้นเราต้องความเข้าใจเรื่องสาธารณะให้ชัด ซึ่งการนิยามคำจำกัดความของคำว่าสาธารณะไม่ใช่แค่วาทกรรมแต่มันจะต้องเป็นการปฏิบัติเพื่อการเรียนรู้อย่างสาธารณะของประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนภาคประชาชนเองนั้นก็ต้องเตรียมข้อมูลให้พร้อมมีน้ำหนักและเป็นรูปธรรมชัดเจนด้วย

ด้านนายชาติชาย เหลืองเจริญ สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง และประธานสภาองค์กรชุมชนตำเบิลเนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง กล่าวว่า  การพัฒนาสื่อเราให้น้ำหนักกับคำว่าชุมชนมาตลอดซึ่งในสิบปีข้างหน้าชุมชนจะขยับเป็นพลเมือง คนในวงการสื่อเองก็ต้องช่วยกันเพราะถึงเวลาแล้วที่ต้องให้ประชาชนเป็นเจ้าของสื่อได้อย่างแท้จริง ที่จะทำให้คนในสังคมขับเคลื่อนไปได้ ดังนั้นหัวใจของการปฏิรูปสื่อที่สำคัญที่สุดคือการปฏิรูปคลื่นความคิดของคนทั้งระบบ

ขณะที่ น.ส. เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน กล่าวว่าเรื่องของการปฏิรูปสื่อนั้นเราต้องคำนึงถึงเด็กๆ ด้วยเพราเด็กๆนั้น เป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ระบบการศึกษาของเราล้มเหลวมาตลอด แต่สิ่งที่เราลืมไป ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ถูกพูดถึงไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ระบุอย่างชัดเจนในเรื่องของการศึกษาตามอัธยาศัยของเด็กๆ  ซึ่งสื่อก็คือการศึกษาตามอัธยาศัยที่จะคอยสอนการบ้านให้เด็กๆ ของเรา  โดยเด็กในบ้านเรานั้นได้ฝากชีวิต 8-9 ชั่วโมงอยู่กับคุณครูคนใหม่ นั่นก็คือโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์  บางบ้านนั้นใช้โทรทัศน์เลี้ยงลูก ซึ่งเราต้องใช้พื้นที่สื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้ของเด็กและครอบครัวให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่นี้

นายสมชัย สุวรรณบรรณ กรรมการนโยบาย ด้านสื่อมวลชนองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า ขบวนการประชาชนจะปฏิรูปสื่อ อย่าตั้งความหวังของการปฏิรูปไว้ที่สื่อวิทยุโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว เราจะต้องปฏิรูปทุกๆ สื่อที่มีอยู่ทั้งหมด เราต้องมองข้ามช๊อตด้วยการผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ ซึ่งบีบีซี ได้พยายามทำแบบนั้น หากเราจะปฏิรูปการเมืองหรือปฏิรูปอะไรก็ตาม แต่ถ้าเราไม่สามารถปฏิรูปคนทำสื่อได้ทุกอย่างก็ไม่มีความหมาย การปฏิรูปสื่อที่สำคัญที่สุดคือเราจะต้องปฏิรูปความคิดของคนทำงานสื่อว่าเขาทำงานสื่อไปเพื่ออะไร ส่วนประเด็นเรื่องการจัดสรรคลื่นเป็นการปฏิรูปกายภาพ ซึ่งการปฏิรูปคนและปฏิรูปเนื้อหานั้นเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า

ด้าน รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า เมื่อก่อนเราผลักดันให้มีคนทำสื่อเพื่อภาคประชาชนแต่ยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว ต้องเป็นภาคประชาชนทำสื่อเพื่อภาคประชาชนเอง ซึ่งในแง่ของโครงสร้างจากการปฏิรูปที่ผ่านมาเมื่อก่อนสื่อขาดแคลนมีน้อยและกระจุกตัว แต่สื่อระบบใหม่จะมีหลากหลายมากขึ้น ซึ่งมีเครื่องมือและโครงสร้างให้คนเข้าไปใช้ แต่ประเด็นคือใครจะเข้าไปใช้ ถ้าเราหวังว่าให้คนทำสื่อให้เราก็จะเจอปัญหาแบบเดิม เรารู้ว่าสื่อมีบทบาทที่สำคัญมากในการผลักดันหลายเรื่อง แต่ในช่วงที่ผ่านมาสื่อก็บอกว่าทำได้บ้างไม่ได้บ้าง

ซึ่งข้อจำกัดคือสื่อจำนวนมากทำงานภายใต้ธุรกิจถูกครอบคลุมและเป็นข้อจำกัดในเรื่องของเงินและธุรกิจ   และขณะนี้เราพบว่าวิธีในการสร้างสื่อถูกลงเรื่อยๆ เช่น ทีวีดาวเทียม เมื่อมีเครื่องมือมากขึ้น มีสื่อมากขึ้น สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือภาคประชาชนจะมีความเตรียมพร้อมมากน้อยแค่ไหนอย่างไรในการทำสื่อนั่นเอง

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์กล่าวว่า สภาพโครงสร้างระบบเดิมของสื่อมวลชนก็ยังเป็นระบบอุปถัมน์ของกลุ่มทุน นักการเมือง และธุรกิจที่เชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายการทำงานของกสทช.  ในปีหน้านี้เราจะปรับคลื่นใหม่ให้เป็นดิจิตัลเพื่อให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาใช้คลื่นความถี่ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเร่งออกกฏหมายในการควบรวมกิจการเพราะถ้ากฏหมายฉบับนี้ไม่มีความรัดกุมก็จะทำให้เอกชนและภาคธุรกิจมาฮุบคลื่นความถี่ในรูปแบบใหม่นี้ได้อีก

กรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เสริมว่า ส่วนของคุณภาพก็เป็นงานหนักของกสทช.ที่จะต้องดูแลทั้งหมด ซึ่งเราก็พยายามส่งเสริมให้เกิดการดูแลตนเอง โดยส่งเสริมองค์กรวิชาชีพ เราจะต้องให้ทุกคนรับผิดชอบตนเองเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น แล้วเราก็จะช่วยเรื่องการดูแลกันอีกที แต่ที่สำคํญก็คือ การส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้เท่าทันสื่อและปกป้องตนเองจากสื่อต่างๆได้ด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง