“วัยดิจิทัล” ยุคใหม่ ใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์เตรียมพร้อมมุ่งสู่อาเซียน

Logo Thai PBS
“วัยดิจิทัล” ยุคใหม่ ใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์เตรียมพร้อมมุ่งสู่อาเซียน

วงการแอนิเมชั่นไทย ตื่นตัว เร่งกระตุ้นเด็กไทยยุคดิจิทัล ใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ระบุ แอนิเมชั่นไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่เสียเปรียบทางด้านภาษาในการสื่อสาร แนะคนไทยเร่งปรับตัว รับมือการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก่อนคนไทยจะเป็นเพียงแค่ “แรงงาน”

จากเวทีเสวนาหัวข้อเรื่อง “จินตนาการเด็กไทยในเวทีอาเซียน” ที่มีเยาวชนคนรุ่นใหม่มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายภายในงาน“เทศกาลสื่อใหม่วัยดิจิตอล S M L Media Festival : Smart Media for Life”  ซึ่งจัดขึ้นโดยอุทยานการเรียนรู้ TK park หนึ่งในหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

นายพีรพัทธ์ นันนารารัตน์ หรือ ฮง นิสิตชั้นปีที่ 1 วิชาการออกแบบสื่อปฏิสัมพันธ์และมัลติมีเดีย วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการเดินทางไปดูงาน ASEAN OSS 3D Animation Skill Improvement Programmer  ประเทศมาเลเซียว่า หลังจากได้เข้าร่วมกับกระทรวง ICT พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า เมฆา ก็ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานดังกล่าวที่มาเลเซียทำให้ตนเองได้เรียนรู้ว่า เรื่องการพัฒนาด้านแอนิเมชั่นของคนไทยไม่ได้ด้อยกว่าชาติอื่น โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบ(ดีไซน์)นั้น เราเก่งกว่าประเทศอื่นในอาเซียน แต่ประเทศไทยเสียเปรียบเรื่องของภาษาในการสื่อสาร

 “ถ้าพูดถึงงานดีไซน์อย่างเดียวถือว่าเรามีภาษีได้เปรียบเขามาก แต่ในเรื่องของการสื่อสาร การใช้ภาษา เรายังสู้เขาไม่ได้  ซึ่งวิทยากรที่นั่นบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อเขาต้องการงานด้านกราฟิกหรือแอนิเมชั่นเขาก็จะเลือกประเทศไทยก่อน เพราะคนไทยเก่งเรื่องงานออกแบบ หรือดีไซน์ แต่ก็ต้องมาพบกับอุปสรรคด้านภาษา ทำให้เราเป็นได้แค่แรงงานเท่านั้น ไม่สามารถไต่ระดับที่สูงขึ้นด้านการบริหารงานการออกแบบต่อไปได้”

สำหรับผลงานซอฟต์แวร์ชุด‘เมฆา’ที่นายพีรพัทธ์ได้มีโอกาสพัฒนาขึ้นร่วมกับกระทรวง ICT นั้น  เป็นซอฟต์แวร์สำหรับผู้ที่สนใจด้านการทำเกมแต่ยังไม่มีพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์มากนัก ซอฟต์แวร์ชุดนี้จึงถือเป็นขั้นเริ่มต้นสำหรับคนที่ชอบเล่นเกมแล้วต้องการจะผลิตเกมเป็นของตัวเอง
         
ด้านนายรัฐ จำปามูล ผู้กำกับผลงานแอนิเมชั่น เรื่องเพลงพระอาทิตย์ และผู้ก่อตั้ง Sputnik Tales studio ยอมรับว่า การเตรียมความพร้อมรับมือสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น ค่อนข้างสำคัญต่อวงการแอนิเมชั่นไทยไม่น้อย หากเราไม่พร้อมก็จะกลายเป็นอุปสรรค เพราะเราจะเจอคู่แข่งอีกหลายประเทศ แต่ถ้าเราพร้อมก็จะเป็นโอกาสสำคัญ ซึ่งในแง่ของผู้ประกอบการถือเป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้มากขึ้นหรือมีช่องทางเผยแพร่ผลงานและมีโอกาสออกไปทำงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนในแง่ประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ทันสมัยนั้นจะมีประโยชน์หรือไม่ขึ้นอยู่กับวิธีการเสพหรือรับ ถ้าหากใช้เล่นเพื่อความสนุกเพียงอย่างเดียวก็จะไม่ได้ประโยชน์ แต่ถ้ามองในแง่ของวิวัฒนาการก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการของเด็กไทย

ส่วนนายไกลก้อง ไวทยการ ผู้ผลิตแอพพริเคชั่น จาก change fusion กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมของเด็กไทยด้านเทคโนโลยีนั้น เรียกได้ว่าแทบไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเลย เพราะเด็กสมัยนี้ ใช้แท็บเล็ต หรือ สมาร์ทโฟน กันอยู่แล้ว ที่สำคัญคือ จะต้องมีเนื้อหาที่เหมาะสม  และทำให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ อาจเป็นรูปแบบของแอนิเมชั่นหรือโปรแกรมง่ายๆ หรือแม้แต่การถ่ายภาพ หรือถ่ายวีดีโอ ฯลฯ และทำให้เด็กนำไปต่อยอดได้ในอนาคตขณะที่ นายจักรี จ่ายกระโทก Creative Director ลูกชาวไร่ (Looksoundlight) ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตแอนิเมชั่นออกสู่สังคม กล่าวว่า เขาพยายามสอดแทรกเนื้อหาดีๆผ่านตัวละครการ์ตูนแอนิเมชั่นที่ผลิต โดยสอดแทรกเข้าไปทีละนิด เพราะเด็กสมัยนี้มีความเชื่อมั่นในตัวเองค่อนข้างสูง และบางอย่างก็สามารถศึกษาได้เองโดยไม่ต้องพึ่งคุณครูหรือพ่อแม่

“ต้องบอกว่าเด็กสมัยนี้มีความรู้กันเยอะ เพราะเขาเกิดมากับโลกอินเทอร์เน็ต มีภูมิคุ้มกันมากมายจากหลายสื่อที่พยายามจะปลูกฝัง จึงอย่าพยายามห้ามไม่ให้เด็กเข้าถึงอินเตอร์เน็ต การป้องกันที่ดีที่สุด คือผู้ปกครองควรให้คำแนะนำ เพื่อป้องกันการทำสิ่งที่ไม่ดี”น.ส.สุจิตรา สาระอินทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ในฐานะองค์กรที่ส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบันการเสพสื่อมีทั้งทางบวกและทางลบ

ดังนั้น กิจกรรมที่ให้ความรู้แก่เยาวชน เพื่อให้รู้จักคิด วิเคราะห์ รวมถึงสามารถสร้างสื่อขึ้นได้เอง นอกจากนี้ทางมูลนิธิฯ ยังได้ผลิตสื่อแอนิเมชั่น เช่น การ์ตูนไซเบอร์คิดส์ ที่แนะนำให้เด็กๆ รู้จักวิธีการใช้งานในโลกไซเบอร์ได้อย่างปลอดภัยอย่างไรก็ดี นอกจากเวทีเสวนาดังกล่าวแล้ว ภายในงานยังได้รวบรวมสื่อที่มีความหลากหลายในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมาจัดแสดง เช่น เทคโนโลยีการผลิตหนังสือเสียงระบบเดซี สำหรับผู้พิการทางสายตา จากสมาคมวิลแชร์ แอสโซซิเอชั่น , ตู้ TTRS จากศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสารระหว่างผู้ส่งและผู้รับปลายทาง โดยอาจเป็นเสียงพูด ข้อความสั้น ข้อความออนไลน์ หรือภาษามือ ผ่านเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสารที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการติดต่อ เป็นการยกระดับการติดต่อสื่อสารให้เท่าเทียมกัน
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง