ชีวิตชาวเรือลากจูงกับการเปลี่ยนโครงสร้างแม่น้ำหลังน้ำท่วม

7 เม.ย. 55
16:51
22
Logo Thai PBS
ชีวิตชาวเรือลากจูงกับการเปลี่ยนโครงสร้างแม่น้ำหลังน้ำท่วม

หลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว มีการพบความเสียหายของตลิ่งตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกำลังส่งผลต่อชาวบ้านที่ใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งทำกิน ขณะที่ยังพบความพยายามทั้งซ่อมแซมและก่อสร้างแนวกั้นน้ำเพิ่มเติม ที่แม้จะมีเสียงเตือนจากนักวิชาการว่าการสร้างคันกั้นไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้จริง

ความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว มีตลิ่งที่ทรุด และแนวกั้นน้ำที่เสียหาย บางส่วนอยู่ระหว่างซ่อมแซม คือสภาพตลอดเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงตั้งแต่จังหวัดอ่างทองถึง พระนครศรีอยุธยา

มวลน้ำปริมาณมากไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ได้กัดเซาะตลิ่ง และแนวกั้นน้ำจนเสียหาย แต่ดูเหมือนยังมีความพยายาม ซ่อมแซมแนวกั้นน้ำ รวมถึงสร้างใหม่ให้สูงและแข็งแรงกว่าเดิม

นายวีระ แจ้งจิต ชาวอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ที่ใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งทำกินมากว่า 20 ปี ประกอบอาชีพเรือลากจูง และเพื่อนร่วมสายน้ำกว่า 100 ลำ เริ่มกังวลกับการสร้างแนวกั้นที่บีบความจุของมวลน้ำ อาจทำให้กระแสน้ำไหลเชี่ยว เนื่องจากสภาพตลิ่งทรุด อาจส่งผลให้ควบคุมเรือยากขึ้น

แต่แนวคิดสร้างแนวกั้นน้ำอาจยังคงเป็นคำตอบของการป้องกันน้ำท่วมของผู้ประสบทกภัยส่วนหนึ่ง รวมถึงภาครัฐที่เชื่อว่าจะช่วยลดความเสียหายของชุมชน และพื้นที่เศรษฐกิจได้ นายรอยล จิตรดอน กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแม่น้ำเป็นกลไกที่เกิดขึ้นได้ ทั้งจากธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์ แต่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลถึงผลกระทบหากสร้างแนวกั้นตลอดเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกรรมการ กยน.ยังยอมรับว่าที่ผ่านมาการบริหารจัดการน้ำมีปัญหาโดยเฉพาะขาดการประสานงานร่วมกันจากภาครัฐ และชุมชน

แม้หลายฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐจะเรียกร้องให้ประสานความร่วมมือเพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่นักวิชาการที่ศึกษาเส้นทางน้ำยังมองไม่เห็นเอกภาพระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน อีกทั้งยังปรากฎภาพความพยายามป้องกันน้ำท่วมลักษณะต่างคนต่างทำเพื่อป้องกันน้ำท่วมเฉพาะพื้นที่ของตนเอง ทำให้กลุ่มที่มีกำลังทางเศรษฐกิจสูงอย่างนิคมอุตสาหกรรมเป็นผู้ได้ประโยชน์ และอาจส่งผลให้มวลน้ำส่งผลกระทบต่อชุมชนของชาวบ้านมากกว่าเดิม แม้จะมีบทเรียนจากน้ำท่วมปีที่แล้ว ว่าการสร้างแนวกั้นน้ำไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้จริง

ขณะที่หลายฝ่ายต่างหาวิธีป้องกันพื้นที่ของตัวเอง โดยยังไม่มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะกับการเปลี่ยนแปลงของเส้นทางและกระแสน้ำ ผู้ใช้แม่น้ำสายนี้จึงอาจเป็นผู้ที่ต้องรับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง