ย้อนวันวานงานพระเมรุ : บอกเล่าความงามของวัฒนธรรมไทย

Logo Thai PBS
ย้อนวันวานงานพระเมรุ : บอกเล่าความงามของวัฒนธรรมไทย

คติการสร้างพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง เพื่อใช้เป็นที่พระราชทานเพลิงพระศพ เป็นวัฒนธรรมที่สังคมไทยรับอิทธิพลมาจากการปกครองแบบเทวนิยม เชื่อกันว่าวาระสุดท้ายของพระชนมชีพจะเสด็จคืนสู่สวรรค์ ณ ดินแดนเขาพระสุเมรุ จึงต้องจัดสถานที่สำหรับพระราชทานเพลิงให้มีลักษณะอย่างเขาพระสุเมรุ ขึ้นใจกลางพระนคร

พระเมรุงามกลางมณฑลพิธีท้องสนามหลวง จัดสร้างตามลักษณะผังเขาพระสุเมรุ ที่เชื่อกันว่าเป็นศูนย์กลางจักรวาล ทิพยวิมานที่สถิตย์ของเทพยดา รายล้อม ด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ ทั้ง 7 และมหานทีสีทันดร มีป่าหิมพานต์ ที่อยู่ของสัตว์นานาชนิด นี่คือสถานที่จำลองแดนสวรรค์ในโลกมนุษย์ที่ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

ธรรมเนียมการสร้างพระเมรุ และพระเมรุมาศ มีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่เรียกสถานที่ในพระราชพิธีนี้ว่าทุ่งพระเมรุ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ยังคงสืบทอดโบราณราชประเพณีนี้

ราวปีพุทธศักราช 2339 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้ถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิของพระชนกนาถเป็นครั้งแรก ความยิ่งใหญ่ของพระเมรุสมัยต้นกรุง สะท้อนผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้วตอนถวายพระเพลิงพระศพทศกัณฑ์ ที่เน้นความโอ่อ่า และยิ่งใหญ่ด้วยงานมหรสพ อันคงแบบแผนเรื่อยมาจนถึงงานพระเมรุมาศพระบรมศพรัชกาลที่ 4 ความยิ่งใหญ่ของพระเมรุไม่เพียงเป็นการถวายพระเกียรติ แต่ยังแฝงคติทางการปกครอง และสะท้อนความมั่นคงของบ้านเมือง

โดยนางเด่นดาว  ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กล่าวว่า การสร้างพระเมรุมาศ เป็นการถวายพระเกียรติยศที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ถวายแด่พระมหากษัตริย์ ที่เสด็จสวรรคตล่วงแล้ว ยังเป็นการประกาศความมั่นคงของบ้านเมือง ด้วยเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแผ่นดินใหม่ โดยแสดงพระบรมเดชานุภาพให้เห็นว่าจะทรงปกครองแผ่นดินให้ผาสุกร่มเย็น

นายวัฒนะ บุญจับ นักวิชาการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ระบุว่า การทำพระเมรุมาศและพระเมรุเจ้านายสมัยก่อนเป็นการเกณฑ์ทั้งกำลังคนและทรัพยากรถ้าการที่สร้างได้ยิ่งใหญ่มาก ก็หมายถึงความสามารถในการคุมขุมพลังและความจงรักภักดี

นอกจากความสวยงามและความยิ่งใหญ่ของพระเมรุแล้ว ตามความเชื่อเรื่องการเสด็จสู่สรวงสวรรค์ พระเมรุจึงเปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่อยู่ของเทพยดา คติความเชื่อนี้ก็มีมาตั้งแต่อดีตและยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน และสะท้อนผ่านพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเล็กน้อยตามยุคสมัย

ทั้งนี้ในอดีตงานพระเมรุใช้กำลังคนและทรัพยากรมหาศาล โดยต้องสร้างพระเมรุถึง 2 ชั้น คือพระเมรุทองชั้นใน สร้างครอบด้วยพระเมรุขนาดใหญ่ชั้นนอก ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไทยปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมหลายอย่างให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเปลี่ยนแปลงพระเมรุให้มีขนาดเล็กลง เหลือเพียงพระเมรุชั้นในอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ขณะที่วัสดุก่อสร้างในยุคหลัง โดยเฉพาะในงานพระเมรุของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ มีการประยุกต์ใช้เหล็กและผ้าใบ แทนวัสดุธรรมชาติหายาก หากยังคงแนวคิดจากคัมภีร์ไตรภูมิตามโบราณราชประเพณีอย่างครบถ้วน ด้วยการประดับรูปเทวดาและสัตว์หิมพานต์สื่อถึงเขาพระสุเมรุศูนย์กลางของ จักรวาล และใช้พื้นสีฟ้าแทนมหานทีสีทันดร สะท้อนพัฒนาการของราชประเพณี ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย

นักวิชาการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า  พระเมรุมาศ และพระเมรุ เป็นภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างดี เพราะเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของยุคสมัย

พื้นที่ใจกลางกรุงของท้องสนามหลวงกว่า 70 ไร่ ในวันนี้จึงถูกปรับเปลี่ยนเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพอีกครั้ง ไม่เพียงเป็นภาพสะท้อนคติความเชื่อ หากงานออกพระเมรุยังเป็นพระราชพิธี ที่รวบรวมฝีมือเชิงช่างและศิลปะชั้นสูง บอกเล่าถึงความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมที่ยังคงได้รับการสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง