กทม.พร้อมรับมือแผ่นดินไหว

สังคม
18 เม.ย. 55
13:38
14
Logo Thai PBS
กทม.พร้อมรับมือแผ่นดินไหว

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครระบุอาคารพาณิชย์ 4 - 5 ชั้น ที่มีอายุกว่า 30 ปี ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีความน่าเป็นห่วงอาจได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนหากเกิดแผ่นดินไหว พร้อมขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากโอกาสเกิดแผ่นดินไหวในกรุงเทพมหานครค่อนข้างน้อย

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในระยะนี้ ในส่วนของกรุงเทพมหานครไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากอาคารสูงสมัยใหม่หลายอาคารในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีการออกแบบโครงสร้าง และมีการใช้วัสดุที่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนด้านข้างหรือแผ่นดินไหวได้ แต่ห่วงอาคารพาณิชย์สมัยเก่าที่มีความสูง 4 - 5 ชั้น และมีอายุมานานกว่า 30 ปี ที่เสี่ยงอาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากยังไม่มีการออกแบบมาเพื่อป้องกันเหตุ

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชน อย่าตื่นตระหนกกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น และจากข้อมูลทางวิศวกรรม ระบุว่าการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.0 - 4.9 ริกเตอร์ในแต่ละครั้งจะเกิดอาฟเตอร์ช็อคเฉลี่ย 13,000 ครั้งต่อปี ขณะที่การเกิดระดับการสั่นสะเทือนขนาด 3.0 - 3.9 ริกเตอร์ จะเกิดอาฟเตอร์ช็อคเฉลี่ย 130,000 ครั้งต่อปี จึงถือเป็นเรื่องปกติ

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า โอกาสที่กรุงเทพมหานครจะเป็นศูนย์กลางแผ่นดินไหวนั้นมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเกิดกับพื้นที่ที่เป็นรอยเลื่อนต่างๆ ในประเทศไทยอย่างรอยเลื่อนระนอง รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ แต่ยอมรับว่าแนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวอาจจะมีมากขึ้นจากปัจจัยของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และการดึงทรัพยากรทางธรรมชาติใต้ผิวโลกมาใช้มากเกินไป

ส่วนความคืบหน้าการทรุดตัวของถนนพระราม 3 ถนนพระราม 4 และถนนพญาไทนั้นกรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการซ่อมแซมอย่างต่อเนื่อง โดยจากการตรวจสอบสาเหตุทั้ง 3 จุดนั้น สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผลกระทบน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมา และพบว่าระดับพื้นผิวที่มีบ่อพักน้ำ และท่อระบายน้ำอยู่ในระดับที่ไม่เท่ากัน ทำให้เกิดช่องโหว่ ส่งผลให้หิน และทรายไหลลงมายังบ่อพักน้ำ จนเกิดการทรุดตัวของถนน สำหรับบริเวณถนนพระราม 4 ในวันที่ 20 เมษายนนี้ เจ้าหน้าที่สำนักการโยธาจะทำการเปิดผิวถนนตั้งแต่เวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น. เพื่อสำรวจหาสาเหตุของปัญหาอย่างละเอียดอีกครั้ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง