การเรียกร้องสิทธิด้านสุขภาพของศิลปินวิชวล เอฟเฟค

Logo Thai PBS
การเรียกร้องสิทธิด้านสุขภาพของศิลปินวิชวล เอฟเฟค

แม้งานด้านวิชวล เอฟเฟค จะเป็นสิ่งที่ขาดแทบไม่ได้ในวงการบันเทิงฮอลลีวูด แต่งานที่ได้ค่าตอบแทนสูงนี้ก็ต้องแลกกับการทำงานที่เร่งรีบแบบไม่มีวันหยุด ไร้ความมั่นคงทางอาชีพ ที่สำคัญไม่มีระบบคุ้มครองดูแลด้านสุขภาพ ทำให้ศิลปินวิชวล เอฟเฟค รวมตัวกันก่อตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องสิทธิอันพึงมีในอาชีพ

ซารี เจนนิส เป็นที่รู้จักในฮอลลีวูดในฐานะศิลปินวิชวล เอฟเฟคชั้นนำ แต่การต้องนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เกินสิบชั่วโมงต่อวัน ทำให้เธอเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทั้ง 2 ข้าง แม้แพทย์จะนัดไปผ่าตัดครั้งที่ 3 แต่ไม่สามารถปลีกเวลาไปได้ เนื่องจากติดภารกิจสำคัญที่ต้องเปลี่ยนหนังดังอย่าง Titanic ให้ออกฉายแบบ 3 มิติ ซึ่งต้องใช้เวลาถึงวันละ 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 4 เดือนเต็ม แทบไม่มีวันหยุด

การออกแบบวิชวล เอฟเฟคกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในหนังชื่อดังของฮอลลีวูด ค่ายหนังยอมเพิ่มทุนสร้างไม่น้อยกว่า 50 ล้านดอลลาร์เพื่อหวังให้หนังดูสมจริงด้วยวิชวล เอฟเฟค แต่เหล่าศิลปินผู้ออกแบบงานกลับถูกปฎิบัติอย่างไม่เท่าเทียมเหมือนกับบุคคลากรสายงานอื่น พวกเขาตารางทำงานที่เร่งรีบแบบไม่หยุดพัก และไม่มีการประกันสุขภาพ หรือเงินบำนาญ เพราะมีสถานภาพเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น

บ่อยครั้งการจ่ายค่าแรงต้องล่าช้าหลายเดือน แต่ที่โชคร้ายกว่านั้นคือไม่ได้รับค่าจ้าง เช่นกรณีของ เดวิด แรนด์ ศิลปินวิชวล เอฟเฟค ที่เคยควบคุมการสร้างเทคนิคพิเศษให้กับ Journey to the Center of the Earth ในปี 2008 บริษัท Meteor Studios ต้นสังกัดของเขาล้มละลาย ก่อนที่หนังจะฉายไม่นาน ส่งผลให้ทีมงานนับร้อยไม่ได้รับค่าจ้างกว่าล้านดอลลาร์

หรือศิลปินที่ใช้นามแฝงว่า matte painter ที่เกือบเสียชีวิตเพราะหลับในระหว่างขับรถ เนื่องจากความอ่อนล้าในการสร้างวิชวล เอฟเฟคให้กับหนังอย่าง National Treasure Book of Secrets ซึ่งใช้เวลาทำงานวันละ 17 ชั่วโมง เป็นเวลา 75 วัน แม้จะมีรายได้ถึงวันละ 30,000 บาท แต่การเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุ 37 ปี และค่าผ่าตัดกว่า 3 ล้านบาทที่เขาต้องจ่ายเอง คือสิ่งที่เขาได้รับจากการเป็นศิลปินวิชวล เอฟเฟคในวันนี้

ปัญหาดังกล่าวทำให้ ศิลปินวิชวล เอฟเฟค พยายามก่อตั้งสหภาพแรงงาน โดยได้รับการสนับสนุนจาก IATSE สหภาพแรงงานที่มีสมาชิกเป็นผู้ประกอบวิชาชีพในวงการบันเทิงกว่า 50,000 ราย ทั้งในสหรัฐฯ และแคนาดา นำโดยทีมงาน 500 คนของ Sony Pictures Imageworks บริษัทวิชวล เอฟเฟคแถวหน้าของวงการ และตัวแทนจากสมาคมแอนิเมชั่นที่ร่วมกันร่างสัญญาเพื่อดูแลผลประโยชน์ด้านสุขภาพ และเงินบำนาญที่เหมาะสมจากบริษัทผู้จ้าง

การเคลื่อนไหวครั้งนี้สร้างความกังวลแก่ศิลปินวิชวล เอฟเฟคในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่มองว่าสัญญาของสหภาพจะกดดันให้ค่ายหนัง หันไปจ้างบริษัทวิชวล เอฟเฟคต่างชาติ ทั้งจากลอนดอน แวนคูเวอร์ หรือแม้แต่มุมไบ ของอินเดีย ซึ่งมีค่าแรงที่ต่ำกว่า และกำลังมีผลงานเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลประทบในระยะยาวต่อศิลปินวิชวล เอฟเฟคของฮอลลีวูดในอนาคต
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง