พพ.ชวนภาคธุรกิจเข้าร่วมอนุรักษ์พลังงานแบบสมัครใจ

สิ่งแวดล้อม
26 เม.ย. 55
05:44
17
Logo Thai PBS
พพ.ชวนภาคธุรกิจเข้าร่วมอนุรักษ์พลังงานแบบสมัครใจ

หน้าร้อนในปีนี้ ส่งผลให้ยอดการใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วไทยทำสถิติพุ่งสูงสุดติดต่อกัน กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ออกมาตรการลดใช้พลังงานชวนภาคธุรกิจเอกชน เข้าร่วมโครงการรณรงค์การอนุรักษ์พลังงานในรูปแบบสมัครใจ โดยมีมาตรการจูงใจผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษี

 สภาพอากาศที่ร้อนจัดในปีนี้ ทำให้มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้า ณ วันที่ 21 เมษายน 2555 พบว่าทำสถิติสูงสุดไปแล้วถึง 4 ครั้ง มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดติดต่อกัน ถึง 2 วันซ้อนในวันที่ 19-20 เมษายน ที่ผ่านมา โดยมีการใชไฟฟ้าสูงถึง 25,178 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดของประเทศ

สำหรับ 2 ภาคส่วนสำคัญ ที่มีส่วนสำคัญในการใช้พลังงานรวมกันสูงสุดถึงร้อยละ 44 ของการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ คือ ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจบริการ  และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับประเทศไทยไม่มีแหล่งพลังงานเชิงพานิชย์ที่มากเพียงพอ จนต้องพึ่งการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเสียงต่อภาวะขาดแคลนพลังงาน อีกทั้งเสถียรภาพด้านราคายังขึ้นอยู่กับกลไกลด้านการตลาด ที่ไม่สามารถควบคุมได้
 
นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ.กรมตั้งใจที่จะรณรงค์การอนุรักษ์พลังงาน ภายในอาคาร โรงงานควบคุม ที่  2 ส่วนที่ มีรวมกันมากว่า 6,000 แห่ง จึงร่วมกับพันธมิตรที่ดำเนินโครงการ รณรงค์อนุรักษ์พลังงาน รูปแบบสมัครใจ Volentary Agreement VA: Energy beyond standards  เชิญองค์กรที่มีความมุ่งมั่นจะลดใช้พลังงานเข้าเป็นเครือข่ายโดยสมัครใจ  โดยร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีผู้ที่มีความตั้งใจจริงสมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่ายธุรกิจลดใช้พลังงานไม่ต่ำกว่า 1,000 แห่ง  โดยจะเปิดรับสมัครไปจนถึงวันที่  1 มิถุนายนนี้  ก่อนที่จะประกาศรายชื่อเครือข่ายคนทำดีแก่สาธารณชนต่อไป
 
นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมโครงการ โดยผู้เข้าร่วมจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ คือ หากเป็นเจ้าของอาคารควบคุม ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ส่งรายงานการลดใช้พลังงานอย่างเคร่งครัด  จัดตั้งผู้รับผิดชอบพลังงาน  หากไม่ได้เป็นเจ้าของอาคารก็ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการอนุรักษ์พลังงาน  และต้องมีความพร้อมในการประกาศเจตนารมณ์ในรูปแบบสัญญาประชาคมต่อสาธารณชน
ส่วนมาตรการผลประโยชน์ที่ได้นั้นก็จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับหน่วยงานที่เข้าร่วม  และเพื่อให้การกระตุ้นให้เกิดกระแสความสนใจในระยะยาว จึงมีมาตรการช่วยเหลือทางหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษี  เงินอุดหนุนชดเชย หรือการสนับสนุนการจัดการพลังงาน สนใจดุรายละเอียดเพิ่มเติมทที่ http://www.dede.go.th
 
นางขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงาน โดยกำหนดเป็นนโยบายอย่างชัดเจนให้มีแนวทางในการปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น ที่ผ่านมาเคยมีความโดดเด่นอย่างมากในเรื่องการรณรงค์ให้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ซึ่งเริ่มต้นไล่เลี่ยกับที่ประเทศญี่ปุ่น แต่หลังจากนั้นประเทศต่างๆ ก็หันมาให้ความสนใจเรื่องการประหยัดพลังงานมากขึ้น
ในระดับภูมิภาคเอเชียนั้นประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีถือว่ามีความโดดเด่นมาก แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ปัจจุบันประเทศสิงคโปร์มีความโดดเด่นเพราะเป็นประเทศไม่ใหญ่ เมื่อกำหนดนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานออกมาก็ได้รับการปฏิบัติตามอย่างทันที รองลงมาในภูมิภาคอาเซียนก็คือ ประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งมีความนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
 
ด้านนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ในฐานะประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยก็ยังคงนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศในปริมาณที่สูงมาก หากเรายังไม่ใส่ใจลดการใช้พลังงานให้ลดน้อยลงก็จะนำไปสู่ปัญหาอย่างแน่นอน สิ่งสำคัญคือ จำเป็นจะต้องสร้างจิตสำนึกให้กับภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง ซึ่งเป็นผู้ใช้พลังงานรายหลักของประเทศ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องให้ความสำคัญกับการลดการใช้พลังงานในด้านต่าง ๆ เช่น การลดการใช้พลังงานในระบบขนส่ง  การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้สูงขึ้นโดยใช้พลังงานเท่าเดิม การใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานและเทคโนโลยีเพื่อการประหยัดพลังงาน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันหากผู้นำองค์กรชั้นนำในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับมาตรการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง จับมือกัน และสร้างเป็น “เครือข่ายผู้นำรักษ์พลังงาน”  ก็จะสามารถช่วยกันกำหนดแนวทางในการลดการใช้พลังงานได้อย่างกว้างขวาง ลดโอกาสที่จะเกิดวิกฤตด้านพลังงาน นำไปสู่การสร้างสังคมสีเขียวหรือ สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้ ส่วนการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆยอมรับว่าต้นทุนในครั้งแรกอาจเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลก็มีแรงจูงใจในมาตรการภาษี ที่อุปกรณ์บางชนิดสามารถลดหย่อนภาษีได้  ซึ่งทำให้การปรับเปลี่ยนเป็นเรื่องคุ้มค่า และสำหรับประเทศก็เป็นผลดีเนื่องจากจะช่วยลดการนำเข้าพลังงาน โดยประเทศไทยนำเข้าพลังงานต่อปี มากกว่าปีละ 1 ล้านล้านบาท  มากกว่าร้อยละ 10 ของ จีดีพี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง