ประชาชนรู้สึกสวนทาง "เงินเฟ้อ" มองราคาสินค้าแพงขึ้น

เศรษฐกิจ
3 พ.ค. 55
07:06
18
Logo Thai PBS
ประชาชนรู้สึกสวนทาง "เงินเฟ้อ" มองราคาสินค้าแพงขึ้น

จากการที่กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนเมษายนว่า ลดลง ซึ่งหมายถึงว่า ราคาสินค้าไม่ได้ปรับเพิ่ม ซึ่งแม้แต่ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระดับสูงของรัฐบาล ยังยืนยันว่า เงินเฟ้อในปีนี้มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากราคาพลังงานตลาดโลกลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้เป็นการสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนที่เห็นว่าราคาข้าวของยังสูงอยู่

ความเห็นของประชาชนบางส่วนต่อราคาสินค้าในขณะนี้ว่า ปรับตัวสูงขึ้นว่าราคาข้าวของยังแพง สวนทางตัวเลขเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนอยู่ที่ร้อยละ 2.47 ลดลง จากเดือนมีนาคมที่อยู่ที่ร้อยละ 3.45 หรือ ลดลงเกือบร้อยละ 1 ในช่วงเดือนเดียวทำให้นักวิชาการบางรายตั้งข้อสังเกตการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อที่ลดลง

แม้กระทรวงพาณิชย์รายงานราคาสินค้าหลายรายการลดลง แต่เมื่อสำรวจตลาดบางแห่ง พ่อค้าแม่ค้ายอมต้องปรับราคาสินค้าขึ้น เช่นในรายงานระบุเนื้อสุกร กิโลกรัมละ 123 บาท แต่ราคาในตลาดขาย 135-140 บาท ขณะที่ผักชีขายที่กิโลกรัมละ 100 บาท แต่ในรายงานระบุราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 70-80 บาทส่วนราคาอาหารสำเร็จรูปอย่างอื่น ๆ ได้ปรับเพิ่ม

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตั้งข้อสังเกตส่วนของอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำสุดในรอบ 29 เดือนที่ระดับร้อยละ 2.47 ถือว่า ลดลงรวดเร็วจึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยว่าเกิดจากสาเหตุอะไร

ขณะที่นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ นักวิชาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ระบุว่า การวัดอัตราเงินเฟ้อเป็นปรากฎการณ์ที่ราคาสินค้าสูงขึ้น แต่วิธีการวัดจะใช้ดัชนีราคาผู้บริโภคมาเปรียบเทียบกัน โดยคำนวนจากสินค้า 417 รายการ เพื่อดูว่าราคาสินค้ามีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด โดยการเก็บตัวเลขจากตลาดขนาดใหญ่เพราะสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด

ทั้งนี้รายการสินค้าในการสำรวจเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ มีจำนวน 417 รายการ พบว่า มี 161 รายการ ราคาคงที่ 69 รายการราคาลดลง และ 187 รายการราคาเพิ่มขึ้น โดยเป็น การสำรวจทั่วประเทศ จาก 60,000 ตัวอย่าง

ขณะที่นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจมองกรอบเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ร้อย 3-4 โดยจากนี้ราคาพลังงานมาแนวโน้มลดลง เพราะสหรัฐและยุโรปจะเข้าสู่ฤดูร้อนทำให้ความต้องการใช้พลังงานลดลง และสินค้าที่มีต้นทุนขนส่งราคาจะลดลงตามไปด้วย

ด้านนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ลดลงเพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่กล้าปรับขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากเกรงว่าจะขายสินค้าไม่ได้ เพราะ กำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่เพิ่มขึ้นในขณะที่ต้นทุนด้านวัตถุดิบที่ผลิตสินค้าไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.16

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง