เจ้าของรางวัลโนเบล ปักธง ธุรกิจเพื่อสังคมต้องเติบโตทั่วโลก ขจัดความยากจนให้หมดไป

สังคม
9 พ.ค. 55
08:36
38
Logo Thai PBS
เจ้าของรางวัลโนเบล ปักธง ธุรกิจเพื่อสังคมต้องเติบโตทั่วโลก ขจัดความยากจนให้หมดไป

ศ.ยูนุส เน้นพัฒนาคนจนมีศักยภาพ เห็นผลแล้วที่บังคลาเทศ เปรียบทุนนิยมเหมือนกระต่ายขาเดียว ต้องทำควบคู่แก้ปัญหาสังคมด้วย สสส.-สกส. เร่งพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม เน้นสร้างสุขภาพดี เศรษฐกิจยั่งยืน

 เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย จัดการประชุมธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ นักวิชาการ ร่วมรับฟังกว่า 300 คน  โดย ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน  ประเทศบังคลาเทศ  กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ธุรกิจเพื่อสังคม : แบบจำลองใหม่เพื่อสหัสวรรษใหม่ ว่า ตนได้ก่อตั้งธนาคารกรามีน ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อคนจน ในปี 1983 มีหลักการว่า คนที่ยากจนที่สุดต้องเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าถึงเงินทุนได้ก่อน ซึ่งเป็นหลักการที่ตรงข้ามกับหลักเกณฑ์ของธนาคารทั่วโลก โดยเกิดจากตนได้มีโอกาสพูดคุยกับคนในชุมชน ทำให้เห็นปัญหาว่าคนจนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ เพราะธนาคารให้เงินกู้เฉพาะคนที่มีเงินเท่านั้น แต่ตนคิดแตกต่างออกไป คนไม่มีเงินควรมีสิทธิ์ได้กู้เงินเพื่อมาขยายรายได้ ซึ่งหลักแนวคิดนี้ทำให้ธนาคารกรามีนเติบโตในทั่วโลก มีสมาชิกเป็นคนจนในประเทศบังคลาเทศถึง 4 ล้านครอบครัว แม้กระทั้งสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่าคนจนที่ธนาคารไม่ให้กู้นำเงินกู้มาคืนได้ครบเสมอ

 
 “หลักการไมโครเครดิตเป็นเรื่องที่ไม่ได้พูดว่า จะให้เงินเท่าไหร่ อย่างไร แต่เป็นเรื่องจะพัฒนาศักยภาพของคนอย่างไร เช่น ในบังคลาเทศ ผู้หญิงถูกมองว่าไร้ศักยภาพ แต่เมื่อได้พูดคุยและให้เงินทุน พบสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือ การเพิ่มศักยภาพให้คนเหล่านั้นได้รู้ว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้บ้าง เงินจึงเป็นเพียงข้ออ้างที่นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของคน เพราะความจนไม่ได้เป็นต้นเหตุของการไร้ศักยภาพ แต่เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่คนจนที่ไม่ได้รับพื้นที่จากสังคม จึงไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้”ศ.มูฮัมหมัด กล่าว
 
ศ.มูฮัมหมัด กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจมุ่งหารายได้ เพราะตำราเศรษฐศาสตร์เขียนไว้ว่าการทำธุรกิจต้องได้ผลตอบแทนคือ เงิน จึงกลายเป็นสิ่งเสพของคนทำธุรกิจ ต่างจากการทำธุรกิจเพื่อสังคม ที่ไม่ได้เน้นแต่กำไร หรือเงินปันผล แต่เป็นเรื่องที่ทำแล้วสังคมได้ประโยชน์ เป็นการแก้ปัญหาสังคมไปพร้อมกับการทำธุรกิจ ซึ่ง 80% ของธุรกิจเพื่อสังคมเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาสังคมไม่จำเป็นต้องรอให้รัฐบาลเริ่ม ทุกภาคส่วนในสังคมต้องมีส่วนร่วม แม้ว่าทุนนิยมจะมีความงาม แต่เหมือนการยืนบนขาข้างเดียว การทำธุรกิจเพื่อสังคมจึงเป็นเหมือนการเสริมขาให้มันมีความมั่นคงขึ้น ซึ่งต้องเร่งปรับโครงสร้างสังคมเพื่อรองรับ เพื่อกำจัดความยากจนให้หมดไปจากสังคมนี้ให้ได้  
 
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า  ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว สวนทางกับเรื่องความเลื่อมล้ำทางรายได้ที่มีเพิ่มขึ้น คนรวยเป็นเจ้าของสินทรัพย์ 69% ของประเทศ ส่วนคนจนครอบครองสินทรัพย์ในสัดส่วนรวมกันไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เป็นเหตุผลให้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสังคมขึ้น โดยสสส. มีเป้าหมายและคาดหวังว่าจะพัฒนาบุคคล ชุมชน เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน  โดยจากการสร้างแบบจำลองธุรกิจ พบว่า เป็นธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนเป็นธุรกิจที่ทำเพื่อสังคมควบคู่กันไปด้วยนั้น มีความยั่งยืนทางการเงินและนำความยั่งยืนกลับมาสู่ประชาชน ได้
 
 “สสส. มีโครงการเพื่อสนับสนุนสุขภาวะคนไทยจำนวนมาก โดยพบโจทย์ว่าจะทำให้โครงการต่างๆ เกิดความยั่งยืนได้อย่างไร จึงเกิดเป็นแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม แนวคิดนี้เกิดขึ้นแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่พบว่าบางเรื่องยังเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน เนื่องจากยังไม่มีทักษะการบริหารธุรกิจ ดังนั้นจึงต้องมีการเชื่อมโยงภาคธุรกิจและภาคสังคม เพื่อสร้างทักษะในการทำงานร่วมกัน  ซึ่งขณะนี้มีสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) ที่สนับสนุนทั้งองค์ความรู้ แบบจำลองการทำธุรกิจ การสร้างเครือข่าย และเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ เพื่อให้ประเทศไทยมีกิจการเพื่อสังคมที่ขยายตัว และยั่งยืน ช่วยแก้ปัญหาสังคมของประเทศไทยได้” ทพ.กฤษดา กล่าว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง