เผยจังหวะก้าวโครงการ “เล่าเรื่องโกง”ชี้ฉายโรงภาพยนตร์ปลุกกระแสสังคมต้าน “โกง”

สังคม
9 พ.ค. 55
08:43
6
Logo Thai PBS
เผยจังหวะก้าวโครงการ “เล่าเรื่องโกง”ชี้ฉายโรงภาพยนตร์ปลุกกระแสสังคมต้าน “โกง”

เครือข่ายศิลปินฯ พร้อมเดินสายทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 10 ที่

 เครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป สำนักงานปฏิรูป สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กองทุนศรีบูรพา สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และเครือข่ายสังคมคุณธรรม ศูนย์คุณธรรม จัดฉายหนังสั้น ในโครงการ  “เล่าเรื่องโกง” เท่าทันการโกง (Corruption Literacy) กว่า 20 เรื่อง ทั้งยังมีการแสดงละครเร่ เรื่อง “เมื่อผียังถูกโกง (ไม้พะยูงต้นเดียว)” โดยศูนย์ศึกษาศิลปะธรรมชาติเด็กรักษ์ป่า จ.สุรินทร์ เพื่อสะท้อนสังคม หวังสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ทั้งยังจับมือคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ บริษัท TIGA จำกัด ในกิจกรรม ชวนน้องดูหนัง…หลังสอบเอ็นท์ ’55 ฉายหนังสั้นสร้างสรรค์สังคม “เล่าเรื่องโกง” พร้อมชมภาพยนตร์การ์ตูนยอดนักสืบจิ๋ว “โคนัน ตอน 15 นาทีเฉียดวิกฤตมรณะ” กระตุ้นสังคม “ไม่โกง” ขึ้นที่ โรงภาพยนตร์ สกาลา สยามสแควร์

              
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป  กล่าวว่า จากสถิติที่พบว่าคนไทยกว่าร้อยละ 64.5 มองว่าการที่รัฐบาลทุกรัฐบาลมีทุจริตคอรัปชั่น แต่ถ้าทุจริตคอรัปชั่นแล้วทำให้ประเทศชาติรุ่งเรืองประชาชนกินดีอยู่ดี ตนเองได้รับประโยชน์ด้วยก็ยอมรับได้ ทำให้เรื่อง “โกง” เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องพูดต้องคุย และพูดถึงให้มากขึ้น ก่อนที่เรื่องนี้จะกลายเป็นจริยธรรมใหม่ขึ้นมา ซึ่งเมื่อมองถึงรูปแบบของการโกงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้นมีอยู่อย่างหลากหลาย สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1) ดื้อตาใส หมายถึง การโกงแบบหน้าด้านๆ ไร้ยางอาย โกงกันซึ่งๆ หน้า ไม่สนใจทั้งกฎหมายและคุณธรรม, 2) ใช้ตัวช่วย คือ พวกที่โกงแบบซ่อนเร้น กลัวถูกจับได้จึงต้องพยายามหาเล่ห์เหลี่ยมทุกรูปแบบมาเป็นเครื่องมือ, และ 3) มวยล้มต้มคนดู หมายถึง การโกงแบบฮั้วกัน เรียกว่าทั้งคนโกงและคนยอมให้ถูกโกง ต่างรู้เห็นเป็นใจและพร้อมใจกันเล่นละครตบตาเพื่อโกงคนอื่นๆ อีกต่อหนึ่ง
 
“เพื่อสะท้อนการโกงที่มีอยู่หลากหลาย การเพิ่มพลังพลเมือง สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมให้ตระหนักถึงภัยร้ายของการทุจริตคอรัปชั่นให้เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยในระยะยาวได้ จึงเป็นที่มาของโครงการ “เล่าเรื่องโกง” เท่าทันการโกง (Corruption Literacy) ผ่านศิลปิน “เรื่องสั้น” “หนังสั้น” และ “ละครเร่” ที่ต้องการปลุกกระแสสังคมให้ช่วยกันแก้ปัญหาการโกงหรือการคอรัปชั่นในประเทศไทยที่ลุกลาม เรื้อรัง ฝังรากลึกจนเกินกว่าจะเยียวยาได้ให้ลดน้อยลง” นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าว 
 
ซึ่งนายดนัย หวังบุญชัย กรรมการและหน่วยเลขานุการ เครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นจังหวะก้าวของการนำหนังสั้นทั้งหมดมาเผยแพร่สู่สังคมเพื่อกระตุ้นสังคม “ไม่โกง”พร้อมทั้งยังได้จับมือกับคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ บริษัท TIGA จำกัด จัดกิจกรรม ชวนน้องดูหนัง…หลังสอบเอ็นท์ ’55 ในการฉายภาพยนตร์การ์ตูนยอดนักสืบจิ๋ว “โคนัน ตอน 15 นาทีเฉียดวิกฤตมรณะ” ร่วมด้วยเพื่อกระตุ้นสังคม “ไม่โกง” ทั้งจะเป็นการนำไปสู่กิจกรรมต่างๆ ในการเผยแพร่ผลงาน เรื่องสั้น 20 เรื่อง จาก 20 นักเขียน หนังสั้น 20 เรื่องจาก 21 ผู้กำกับ และละครเร่อีก 1 เรื่อง ที่สะท้อนเรื่องราว มุมมองและรูปแบบการโกงต่างๆ สู่สังคม โดยเรื่องสั้นจะมีการรวบรวมและจัดพิมพ์เป็นเล่มซึ่งจะออกมาให้อ่านเร็วๆ นี้ ส่วนหนังสั้นจะมีการนำไปฉายในโรงภาพยนตร์ชั้นนำ ทีวีสาธารณะ เคเบิลทีวี และในขณะเดียวกันก็จะมีการพัฒนาละครเร่ เพื่อนำไปเป็นกิจกรรม Road Show ร่วมกับเรื่องสั้น หนังสั้น ไปยังสถานศึกษาทุกภูมิภาคอย่างน้อย 10 ครั้ง เพื่อปลูกและปลุกจิตสำนึก โดยปลูก คือ การปลูกจิตสำนึกใหม่ให้กับเยาวชน และปลุก คือ ปลุกจิตสำนึกให้กับคนที่รู้แล้วแต่ยังไม่ตื่นให้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้อย่างจริงจัง
 
“จากนั้นจะเริ่มนำหนังสั้นทั้งหมดไปฉายพร้อมกันช่วงเดือนมิถุนายนในโรงภาพยนตร์ชั้นนำ เป็นระยะเวลากว่า 1 สัปดาห์ ส่วนช่วงเดือนกรกฎาคม จะมีการนำบทประพันธ์จากเรื่องสั้นและประเด็นสาธารณะที่มีประเด็นเพิ่มเติมมาทำหนังสั้นอีกครั้ง ผ่านศิลปินแขนงอื่นๆ อาทิ ด้านดนตรี ด้านเอนิเมชั่น ด้านการ์ตูน หรือนวนิยาย เข้ามาเพิ่มเติม โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.artculture4health.com อย่างไรก็ตามข้อมูลองค์ความรู้ ที่สกัดมาจากภาคธุรกิจ หอการค้าไทย หรือคณะกรรมการ รวมทั้งภาครัฐ และเอกชน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เฝ้าระวัง ปลูกฝังความคิด จิตสำนึกในการต่อต้านคอรัปชั่น จะเป็นประเด็นและเนื้อหาสำคัญที่จะนำมาใช้ในการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างผลงานในด้านสื่อศิลปวัฒนธรรมต่อไป” นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว
 
ด้านนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับหนังสั้นเรื่อง “ภิกษุณี” กล่าวว่า โครงการเล่าเรื่องโกงมีผู้กำกับมารวมตัวกันทำหนังสั้นเพื่อเล่าเรื่องโกงมากกว่า 20 คนก็จริงแต่เมื่อเปรียบเทียบกับการโกงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแล้วคงเล่าได้ไม่ครบทุกแง่มุม แต่อย่างน้อยเมื่อคนดูได้ชมแล้วจะต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง และหาคำตอบไปด้วยกันอย่างแน่นอนว่า “ทุกวันนี้เราโกงหรือโดนโกงหรือเปล่า” ซึ่งหนังสั้นเรื่อง “ภิกษุณี” ก็เป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการโกงนิพพาน โกงชีวิต โกงเพศ โกงตัวตนของคนอื่น โกงชีวิตมนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงที่สุด หากอยากรู้ว่าเรื่องราวของหนังสั้นเรื่องอื่นๆ จะเป็นอย่างไรสามารถติดตามทั้งหมดได้เร็วๆ นี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง