"กองทุนเงินทดแทน" กับปัญหาการใช้สิทธิ์รักษาตัวของผู้ป่วย

9 พ.ค. 55
14:52
48
Logo Thai PBS
"กองทุนเงินทดแทน" กับปัญหาการใช้สิทธิ์รักษาตัวของผู้ป่วย

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เสนอให้ภาครัฐเร่งพัฒนากระบวนการตรวจสอบสิทธิ์ในการเข้าสู่กองทุนเงินทดแทนให้มีมาตรฐานเดียวกันในทุกพื้นที่ หลังพบว่า มีแรงงานที่ไปยื่นอุทธรณ์เพื่อขอให้มีการวินิจฉัยการเข้าถึงสิทธิ์กองทุนเงินทดแทนใหม่ได้รับสิทธิ์ล่าช้า หรือ ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม

<"">
 
<"">

ใบรับรองแพทย์ของคลินิคแห่งหนึ่งที่เป็นสถานพยาบาลในสังกัดประกันสังคมของชะมิตร เด็ดจังหรีด แรงงานในโรงงานผลิตจิวเวอรี่ แห่งหนึ่งที่มีการอาการปวดหลังจนต้องเข้ารับการผ่าตัดเมื่อเดือน พ.ย.ปี 2553 และต้องหยุดงานติดต่อกันเป็นเวลากว่า 4 เดือน เนื่องจากกระดูกกดทับเส้นประสาทเพราะการนั่งทำงานอย่างน้อยวันละ 13 ชั่วโมงติดต่อกันเป็นเวลากว่า 6 ปี ถูกระบุว่าเป็นเพียงอาการปวดหลัง ทำให้ถูกปฎิเสธการใช้สิทธิ์กองทุนเงินทดแทน ทั้งที่ก่อนหน้านี้แพทยสภายืนยันว่า เป็นการเจ็บป่วยจากการทำงาน ทำให้เขาต้องยื่นอุทรณ์ต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งจะทราบผลในปลายเดือนนี้

การถูกปฏิเสธให้ใช้สิทธิ์กองทุนเงินทดแทนของชะมิตหรือแรงงานคนอื่นจนแรงงานส่วนใหญ่ต้องไปยื่นอุทรณ์ด้วยตัวเองซึ่งต้องใช้เวลาในการวินิจฉัยใหม่อย่างน้อย 4 - 5 เดือนจึงจะทราบผล ทำให้ประธานสภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เสนอว่า ภาครัฐควรพัฒนาคลินิคโรคจากการทำงานทำให้มีมาตรฐานในการตรวจสอบที่เท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบของแรงงานทั้งการได้รับสิทธิ์ที่ล่าช้าหรือถูกเลิกจ้างเนื่องจากลูกจ้างต้องไปยื่นอุทรณ์เพื่อขอให้มีการวินิจฉัยใหม่

สำหรับข้อแตกต่างของการใช้สิทธิ์กรณีเจ็บป่วยกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน เช่น กองทุนประกันสังคมมีสิทธิรับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของนายจ้างตามใบรับรองแพทย์โดยใช้สิทธิลาป่วยกับนายจ้าง 30 วัน และมีสิทธิเบิกค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ต่าง ๆ

ขณะที่กองทุนเงินทดแทนหากนายจ้างแจ้งการประสบอันตราย ตาม กท.16 ภายใน 15 วัน หรือ กท.44 นายจ้างจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนแล้วค่อยนำมาเบิก และหากแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว 3 วันขึ้นไปแต่ไม่เกิน 1 ปีจะได้รับค่ารักษาพยาบาลและเงินทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน ส่วนกรณีสูญเสียอวัยวะได้รับค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนตามประเภทที่สูญเสียอวัยวะ ไม่เกิน 10 ปี กรณีทุพพลภาพ ได้รับค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนแต่ไม่เกิน 15 ปี  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง