“Ozy3rs” เครื่องล้างผัก-ผลไม้ประหยัดน้ำ

Logo Thai PBS
“Ozy3rs” เครื่องล้างผัก-ผลไม้ประหยัดน้ำ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สร้างนวัตกรรมเครื่องล้างผักและผลไม้แบบประหยัดน้ำด้วยโอโซน นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สร้างสิ่งประดิษฐ์ เครื่องล้างผักและผลไม้แบบประหยัดน้ำด้วยโอโซน (Ozy3rs) โดย น.ส.ธิดารัตน์ บุญศรี อาจารย์ ภาควิชาสิ่งแวดล้อม คณะวิศวะกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมด้วยนักศึกษาในทีมอีก 5 คน คือ น.ส.บุษราคัม กุลวงศ์, น.ส.สุพัตรา ว.ษารัฐ, น.ส.ยุภาพร ทิพประกอบ, นายสุทัศน์ จำปาทอง และนายกิตติพงษ์ กิจการ ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้เป็นนักศึกษา สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ซึ่งน.ส.ธิดารัตน์ บุญศรี กล่าวว่า “เครื่องล้างผักและผลไม้แบบประหยัดน้ำด้วยโอโซน” หรือเรียกสั้นๆ ว่าเครื่อง Ozy3Rs ว่าผักและผลไม้บางชนิดการล้างด้วยน้ำอาจทำให้ช้ำง่าย ผลไม้แกะสลักประดับจานถ้าไม่ล้างอาจมีเชื้อโรคปะปนในอาหาร และผลไม้บางชนิดไม่สามารถล้างน้ำที่เนื้อโดยตรงได้ เช่น ส้ม หรือ แตงโม   จึงเกิดแนวคิดเลือกใช้โอโซนในการล้างผักผลไม้เพราะมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค กำจัดกลิ่น และสารเคมีได้เป็นอย่างดี ใช้ได้ทั้งการล้างแบบใช้น้ำโอโซนและก๊าซโอโซน  ส่วนตัวเครื่องถูกออกแบบให้เป็นนวัตกรรม 3Rs คือ Reduce, Reuse และ Recycle   เพราะถูกออกแบบให้ใช้ก๊าซ และน้ำโอโซนในการล้างผักและผลไม้ในปริมาณน้อย (Reduce) หรือไม่ใช้น้ำเลย (zero water) และเนื่องจากน้ำผ่านโอโซนเป็นน้ำที่สะอาดสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ล้างซ้ำได้อีก 2- 3 รอบ (Reuse) ส่วนตัวเครื่องถูกประกอบขึ้นด้วยวิธี D.I.Y. หรือ Do it yourself ด้วยการนำโครงของตู้ไมโครเวฟ ถาดหรือตะแกรงสแตนเลส และถังน้ำพลาสติกชนิดพีอีที  ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้เป็นอุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้วจากในครัวเรือน (Recycle)

เครื่อง Ozy3Rs ทำงานด้วยโดยโปรแกรมอัตโนมัติที่ถูกออกแบบไว้สำหรับผักผลไม้ 4 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 ผักที่มีสารเคมีฆ่าแมลงปนเปื้อนสูง เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ใช้เวลา 20 นาที กลุ่มที่ 2 ผักใช้รับประทานสดที่อาจปนเปื้อนแบคทีเรียได้ง่าย เช่น ผักกาดหอม ผักชี ต้นหอม ใช้เวลา 5 นาที กลุ่มที่ 3 ผักที่สูญเสียวิตามินไปกับน้ำได้ง่าย เช่น ผักโขม มะเขือเทศ ส้ม ใช้เวลา 5 นาที และกลุ่มที่ 4 เห็ดต่างๆ เพราะล้างได้ยากและการล้างด้วยน้ำจะทำให้เห็ดเน่าเสียในกลุ่มนี้จึงใช้การพ่นก๊าซโอโซนเวลา 5 นาทีแทนการใช้น้ำ ซึ่งผลการทำงานของโปรแกรมต่างๆ ได้รับการทดสอบทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าได้ผลปลอดภัยและยังคงคุณค่าทางอาหาร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง