รำลึก 20ปี เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ผลักดันสร้างอนุเสาวรีย์วีรชนพฤษภา 35

สังคม
17 พ.ค. 55
08:10
29
Logo Thai PBS
รำลึก 20ปี เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ผลักดันสร้างอนุเสาวรีย์วีรชนพฤษภา 35

แต่การพิสูจน์ผู้สูญหายจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ก็ยังไม่มีความคืบหน้า แม้ผ่านมาถึง 20 ปีแล้ว ซึ่งแกนนำที่ออกมาเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ครั้งนั้นยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ต่จะผลักดันให้มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา 35 ขึ้นให้ได้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจถึงเหตุการณ์ความรุนแรงและการเสียสละชีวิตของวีรชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย

ญาติผู้เสียชีวิต และผู้สูญหายจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ร่วมจัดกิจกรรมรำลึก 20ปี เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับวีรชนที่ยอมเสียสละชีวิตในการเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัดขึ้นบริเวณ วนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถนนราชดำเนิน โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ องค์กรต่างๆ และภาคประชาชนนำพวงมาลา มาวางสดุดีวีรชน อาทิ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นางโคทม อารียา นายจตุพร พรหมพันธุ์ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ และนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล

โดย พล.ต.จำลอง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในฐานะแกนนำเคลื่อนไหวเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 บอกว่าเป็นบทเรียนที่สะท้อนให้เห็นถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และวิกฤติของชาติ ที่ไม่สามารถหาทางออกได้ด้วยวิธีการในรัฐสภา จึงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ โดยให้ภาคประชาชน และนักวิชาการ เข้าไปมีส่วนร่วม เนื่องจากกลไกเดิมใช้ไม่ได้ผล พร้อมกันนี้ พล.ต.จำลอง ยังตั้งคำถามถึงการปรองดองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใด

สำหรับความพยายามที่จะผลักดันให้ถนนราชดำเนินเป็นถนนปลอดอาวุธนั้น พล.ต.จำลอง เห็นว่าไม่ควรดำเนินการเฉพาะถนนราชดำเนินเท่านั้น แต่ควรทำในถนนทุกสาย หากเป็นการชุมนุมของประชาชนที่เป็นไปตามกฎหมาย และปราศจากอาวุธ ขณะเดียวกัน ยังเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการจัดสร้างอนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา 35 ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะล่าช้าไปมาก ทั้งๆ ที่ทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว ส่วนการติดตามผู้สูญหายจากเหตุการณ์ ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะได้ผ่านมานานแล้ว แต่เห็นว่าสิ่งที่ต้องทำต่อไป คือการจัดงานรำลึกขึ้นทุกปี เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานคณะกรรมการจัดงาน 20ปี พฤษภาประชาธรรม บอกว่า แม้เหตุการณ์จะผ่านไป 20ปี แต่การจัดงานยังต้องมีต่อไปทุกปี เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้คนไทยเรียนรู้ว่าความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของการใช้อารมณ์ แต่เป็นการเคารพควาเมเห็นที่แตกต่าง และอยู่ร่วมกันได้ หากคนไทยไม่รู้จักเรียนรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็จะไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งสุดท้าย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง