พบนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น อายุน้อยลงเฉลี่ย 17 ปี

สังคม
31 พ.ค. 55
02:57
15
Logo Thai PBS
พบนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น อายุน้อยลงเฉลี่ย 17 ปี

แม้ประเทศไทยจะมีการรณรงค์การลดสูบบุหรี่ในทุกปีแต่จำนวนนักสูบหน้าใหม่กลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 15-17 ปี เข้าถึงบุหรี่ได้ง่ายขึ้น ขณะที่การลักลอบค้าบุหรี่ผิดกฎหมายถือเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศกำลังประสบปัญหา ซึ่งประเทศไทย พบสถิติการตรวจจับได้สูงขึ้นทุกปี

น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า วันงดสูบบุหรี่ปีนี้กำหนดประเด็นรณรงค์ว่า จับตาเฝ้าระวังยับยั้งอุตสาหกรรมยาสูบเพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลยุทธ์อุตสาหกรรมบริษัทบุหรี่ ส่วนสาเหตุที่การสูบบุหรี่ยังไม่ลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมยาสูบดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์แอบแฝง ซึ่งจากสถิติของสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังพบว่า จำนวนผู้สูบบุหรี่ทุกชนิดมีจำนวน 13 ล้านคนเป็นบุหรี่จากโรงงาน 5.1 ล้านคน, บุหรี่มวนเอง 4.7 ล้านคน, สูบทั้งบุหรี่จากโรงงานและมวนเอง 3.1 ล้านคน และสูบบุหรี่ชนิดมีควันอื่น เช่น ไปป์ ซิการ์ บารากู่ 100,000 คน

ทั้งนี้พบว่า อัตราการสูบบุหรี่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มอายุ15-17 ปี เข้าถึงบุหรี่ได้ง่ายขึ้น เห็นได้จากการซื้อบุหรี่ครั้งสุดท้ายแบบแบ่งมวนขายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 84.3 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 88.3 ในการสำรวจล่าสุดเยาวชนสูบบุหรี่ที่อายุน้อยลง จากเดิมเริ่มสูบอายุ 18 ปี เป็น 17 ปี

ส่วนการได้รับควันบุหรี่มือสองพบว่า สถานที่ 5 อันดับแรกที่ได้รับควันบุหรี่สูงสุดได้แก่ ตลาด สถานบันเทิง ร้านอาหาร มหาวิทยาลัย และ ที่ทำงาน โรงเรียนมีแนวโน้มได้รับควันบุหรี่ลดลง แต่ 1 ใน 4 ยังคงได้รับควันบุหรี่ที่โรงเรียน และ บ้านเป็นสถานที่ที่ได้รับควันบุหรี่เพิ่มขึ้น ซึ่งจากมาตรการรณรงค์ของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังไม่สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ให้น้อยลงได้ เหมือนในช่วง 20 ปีแรกของการรณรงค์

ขณะที่การลักลอบนำเข้าบุหรี่ผิดกฎหมายจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในราคาถูกเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คนไทยสูบบุหรี่มากขึ้น จากเมื่อ 3 ปีก่อน ถึง 600,000 คน เนื่องจากบุหรี่เหล่านี้ไม่ต้องเสียภาษีและมีราคาเพียงซองละ 25-30 บาทเท่านั้น ซึ่งมีราคาถูกกว่าบุหรี่ในประเทศที่ขายซองละ 50-80 บาท

สำหรับเส้นทางการลักลอบยังคงอยู่ที่แถบชายแดนภาคใต้ที่ จ.สตูล และ จ.สงขลา รวมถึงแถบชายแดนภาคตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดตราดถึงจังหวัดชลบุรี จากนั้นจะลำเลียงมาไว้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นแหล่งพักพิงสุดท้าย ก่อนกระจายสินค้าไปสู่กลุ่มผู้สูบ โดยการลักลอบขนบุหรี่ผิดกฎหมายมีทั้งลักษณะการใช้คนเดินวนเข้า-ออกวันละหลายรอบตามแนวชายแดน หรือที่เรียกว่า กองทัพมด และ การลักลอบขนบุหรี่ขนาดใหญ่ผ่านขบวนการอาชญากรรม ซึ่งเป็นวิธีการที่นักวิชาการด้านบุหรี่เป็นกังวล เพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่เคยสามารถตรวจจับได้

จากการประมาณการณ์ของนักวิจัยที่ร่วมทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ คาดว่า ขณะนี้มีการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายถึงร้อยละ 10 ของการบริโภคยาสูบทั้งประเทศ สอดคล้องกับข้อมูลของกรมสรรพสามิต ระบุว่า ปี 2552 สามารถจับกุมยาสูบผิดกฎหมายได้ถึง12,400 คดีสูงกว่าปี 2551 เกือบ 2,000 คดี โดยได้ของกลางเป็นยาสูบในประเทศกว่า 300,000 ซอง และยาสูบต่างประเทศอีกกว่า 400,000 ซอง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง