ทีเอ็มบี ชี้เน้นลงทุนภาครัฐเพื่อสร้างศักยภาพไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

2 มิ.ย. 55
08:42
11
Logo Thai PBS
ทีเอ็มบี ชี้เน้นลงทุนภาครัฐเพื่อสร้างศักยภาพไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ  TMB Analytics ชี้แนวโน้มเม็ดเงินลงทุนภาครัฐในปี 2556 ขยับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี แต่ต้องติดตามประสิทธิภาพของการลงทุนว่าสามารถสร้างศักยภาพเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยขนาดไหน

การลงทุนของภาครัฐในระดับต่ำในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เราสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะโครงสร้างพื้นฐานของไทยไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน พบว่ามาเลเซียมีการลงทุนของภาครัฐสูงกว่าไทยเป็นเท่าตัว  จึงไม่แปลกเลยที่มาเลเซียได้รับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในปี 2554 โดยสถาบัน IMD อยู่ในอันดับที่ 16  เป็นรองแค่จากสิงค์โปร์ในอาเซียน ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 27  แม้เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน   

แต่ IMD ได้ระบุชัดเจนว่า ปัจจัยหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนของเรา คือโครงสร้างพื้นฐานซึ่งอยู่เพียงแค่อันดับที่ 42  หากเราไม่เร่งจำกัดจุดอ่อนในข้อนี้แล้ว เราจะสูญเสียโอกาสอย่างมากเมื่อก้าวสู่ AEC อย่างเต็มรูปแบบ
 
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เม็ดเงินงบประมาณที่เจียดไว้สำหรับการลงทุนเรียกได้ว่าแทบไม่ทำให้การลงทุนของรัฐเพิ่มเท่าที่ควรจะเป็น สวนทางกับการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นมาก  ดูได้จากในช่วงปี 2546-2551 การลงทุนภาครัฐมีสัดส่วนเฉลี่ยเพียงร้อยละ 6.8 ของ GDP เท่านั้น ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และแม้แต่ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2541-2545 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 8.4 ของ GDP  ล่าสุดในปี 2554 สัดส่วนการลงทุนภาครัฐได้ลดลงไปอีกอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ของ GDP เท่านั้น

แม้ว่ายังมีเม็ดเงินลงทุนภายใต้พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็งตกค้างท่ออยู่ก็ตาม  แต่เหตุอุทกภัยในช่วงปลายปี ทำให้เกิดการหยุดชะงักในกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ การลงทุนภาครัฐจึงแผ่วลงไปอีก  และเชื่อว่าส่งผลต่อเนื่องไปในปี 2555  แม้งบรายจ่ายลงทุนในปี 2555 จะสูงกว่ากว่าปีก่อนหน้าก็ตาม แต่การลงทุนผ่านพ.ร.ก.กู้เงินบริหารจัดการน้ำฯ จะมีการเบิกจ่ายในปีนี้ไม่มาก (สศค.คาดที่ 3 หมื่นล้านบาท และ 2.1 แสนล้านบาท ในปี 2555 และ 2556) ทำให้การลงทุนภาครัฐอยู่เพียงประมาณร้อยละ 4 ของ GDP เท่านั้น

ล่าสุด ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 มีวงเงินถึง 2.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังคงและขาดดุลต่อเนื่องจากปีก่อนๆ โดยตั้งงบขาดดุลที่ 3 แสนล้านบาท ต่ำกว่าปี 2555 ที่ตั้งขาดดุล 4 แสนล้านบาท  หากดูเฉพาะงบการลงทุนจะจัดสรรไว้ที่ 4.67 แสนล้านบาทหรือร้อยละ 20 งบประมาณรวม เป็นตัวเลขที่ดูดีโดยยังไม่นับการลงทุนเพิ่มเติมตามกฎหมายพิเศษ เช่น พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำฯ วงเงินอีก 3.5 แสนล้านบาท

ดังนั้น หากไม่เกิดเหตุการณ์ผิดปกติใดๆฉุดบรรยากาศการลงทุนแล้ว  เม็ดเงินลงทุนภาครัฐที่ผ่านงบประมาณและพ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำฯ รวมแล้วจะอยู่ที่ 6.77  แสนล้านบาท (ยังไม่นับรวมแผนการลงทุนด้านโครงสร้งพื้นฐานในช่วงปี 2555-2559 วงเงิน 2.27 ล้านบาท ที่ยังไม่มีความชัดเจนของการลงทุนในแต่ละปี) ทำให้สัดส่วนการลงทุนภาครัฐจะกลับไปสูงใกล้เคียงกับปี 2554 เป็นสัญญาณที่ดีของการลงทุนภาครัฐในระยะต่อไป และจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวและการเจริญเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม  หนี้ก้อนใหญ่ที่พอกพูนขึ้นเนื่องจากเรามีข้อจำกัดของงบประมาณรายรับในแต่ละปี  จะทำให้ภาระหนี้ของประเทศเข้าใกล้จุดอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับหลายๆประเทศในยุโรปกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ ที่สร้างหนี้สาธารณะไว้มากมาย แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจได้เลยแม้แต่นิดเดียว  ดังนั้น ประสิทธิภาพของบริหารจัดการโครงการการลงทุน  เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดและบั่นทอนการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง