"นายกฯ" มอบหมาย "วรวัจน์" หารือวันปิดประชุมรัฐสภา

การเมือง
5 มิ.ย. 55
10:39
9
Logo Thai PBS
"นายกฯ" มอบหมาย "วรวัจน์" หารือวันปิดประชุมรัฐสภา

นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประสานกับทางรัฐสภารวมถึงวิปทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อหารือและพิจารณาวันเวลาที่เหมาะสมในการปิดประชุมรัฐสภา สมัยสามัญนิติบัญญัติ

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ประสานกับทางรัฐสภารวมถึงวิปทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อหารือและพิจารณาวันเวลาที่เหมาะสมในการปิดประชุมรัฐสภา สมัยสามัญนิติบัญญติ และกล่าวว่าส่วนที่ฝ่ายค้านต้องการให้มีการเสนอพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ขัดข้องแต่ต้องดูทางสภา ว่ายังมีเรื่องด่วนใดบ้างที่ยังคงค้างในสภา ซึ่งหากทางสภามีการยืนยันว่าขัดข้อง ก็สามารถเสนอปิดประชุมได้ แต่ทั้งนี้ต้องมาจากการหารือและความเห็นจากวิปทั้งหมด

ส่วนเรื่องการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ชะลอการพิจารณาลงมติในวาระ 3 นั้น นายกฯ กล่าวว่าเป็นเรื่องของทางสภาและวิป ที่ต้องหารือกันในการดำเนินการต่อไป ส่วนรัฐบาลในฐานะที่เป็นผู้ยื่นพิจารณา ได้มอบหมายให้นายวรวัจน์ศึกษาในเรื่องของข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายอยู่ สำหรับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ ที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง รัฐบาลยืนยันให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้บ้านเมืองสงบ รวมถึงการดูแลความปลอดภัย

ส่วนในแง่เนื้อหา อยู่ที่รัฐสภาและวิป ที่จะต้องทำความเข้าใจ รัฐบาลไม่สามารถกำหนดได้ เพราะอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารนั้นแยกออกจากกัน ทั้งนี้ในฐานะของผู้นำประเทศ เห็นควรชะลอหรือไม่นั้น ต้องมาพูดคุยกันว่าอะไรวิธีการใดที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองได้ ซึ่งตนเองอยากเห็นการเสนอทางออกมาด้วย ไม่ใช่เมื่อทำไม่ได้ก็ให้หยุดไป จะทำให้ประเทศไม่มีทางออก

นอกจากนี้ นายกฯ ยืนยันว่า การที่ พล.อ.มาร์ติน อี.เดมพ์ซีย์ (Martin E.Dempsey) ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐอเมริกา เข้าพบหารือถือเป็นการเข้าเยี่ยมในวาระปกติ ซึ่งมีเรื่องความร่วมมือและแลกเปลี่ยนในส่วนของกองทัพ และการที่สหรัฐจะเข้ามาช่วยเหลือในการดูแลอุบัติภัยต่างๆ ส่วนที่มีความกังวลว่าจะมีการแอบแฝงของทหารหรือไม่นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ารัฐบาลต้องคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก โดยต้องให้กองทัพทำงานร่วมกันก่อน และยืนยันว่าไม่มีเรื่องของการสอดแนม ทั้งนี้ในความร่วมมือทั้งหมดต้องดูในรายละเอียด และยังไม่มีการตัดสินใจใดๆทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามนายกฯ ปฏิเสธที่จะกล่าวถึงการมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเจรจากับทางการพม่า กรณีที่พล.อ.เต็งเส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เลื่อนกำหนดการเยือนประเทศไทยหลังนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า ใช้ประเทศไทยในการเคลื่อนทางการเมืองระหว่างการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก(World Economic Forum) เพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยยืนยันว่า นางอองซาน ซูจี เดินทางมาในนามแขกของการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก ซึ่งไทยให้การดูแลในเรื่องของความปลอดภัยทางการฑูตปกติ

ทั้งนี้ ทั้ง 2 ประเทศ ต้องไปหารือกันว่าทางพม่าได้ติดกำหนดการในเรื่องใดจึงมีการเลื่อนการเดินทาง โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะต้องร่วมกันสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียนเช่นเดิม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง