กนง.คงดอกเบี้ยหลังปัจจัยภายนอกกดดัน

เศรษฐกิจ
11 มิ.ย. 55
14:53
7
Logo Thai PBS
กนง.คงดอกเบี้ยหลังปัจจัยภายนอกกดดัน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB หรือ TMB Analytics มอง กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.00 ในการประชุมกลางสัปดาห์นี้ ขณะที่แนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยนโยบายจะทรงหรือจะขึ้นในปีนี้ ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศเป็นสำคัญ

 ด้วยปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจภายในที่ฟื้นตัวหักกลบกับปัจจัยลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ ส่วนหนึ่งจากปัญหาการคลังที่เรื้อรังของกลุ่มยุโรป ทำให้ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.00 มาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ปรับลดเพียงครั้งเดียวเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจหลังเผชิญอุทกภัยครั้งใหญ่ และคาดว่าจะยังคงระดับดอกเบี้ยต่อไป เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐและจีนเริ่มส่งสัญญาณแผ่วลง อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินต่างประเทศทำให้ความชัดเจนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าจะไปสิ้นสุดที่เท่าใดในปีนี้ มีความคลุมเครือมากขึ้น โดยต้องติดตามสถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่งเงื่อนไขสำคัญต่อแนวโน้มทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเวลาเหลือของปีนี้ ประกอบด้วย

 
1.ปัจจัยภายในประเทศ จากสองสาเหตุหลักคือ เงินเฟ้อ กับ การเมือง โดยด้านเงินเฟ้อนั้น หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนกลับดีขึ้น ราคาน้ำมันที่จะปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว จะกดดันให้เงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นอีกได้ ในขณะที่ผลจากการปรับขึ้นค่าแรงในช่วงที่ผ่านมานั้น จะกลับมาเริ่มส่งผลอีกทีในช่วงปลายปี ส่วนปัจจัยการเมืองในประเทศนั้น ประเมินว่า ไม่น่าเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบรุนแรงเช่นสองปีก่อน ซึ่งจริงๆ แล้ว การเกิดเหตุการณ์ในครั้งนั้น กระทบต่อเศรษฐกิจเพียงในระยะสั้นๆ จึงไม่กดดันให้เกิดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต้องมองภาพในระยะยาวมากกว่า ดังนั้น ประเด็นเรื่องการเมืองในปีนี้ จึงอยู่ในระดับเพียง “เฝ้าดู” ไม่ถึงกับ “เฝ้าระวัง” 
 
2.ปัจจัยต่างประเทศ จากสองสาเหตุหลักคือ ปัญหาการคลังของยุโรปที่ยังไม่สิ้นสุด และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน สถานการณ์ในยุโรปขึ้นกับตัวแปรหลัก ณ ขณะนี้ คือ ผลการเลือกตั้งของกรีซ ว่าจะได้รัฐบาลที่จะดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดทางการคลัง ตามที่ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินต้องการหรือไม่ และส่งผลสืบเนื่องมายังการดำรงสมาชิกภาพของอียูต่อหรือไม่ด้วย  ซึ่งส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน และตลาดกังวลต่อผลกระทบลุกลามเกิดขึ้นต่อเนื่องไปยังประเทศสมาชิกในเศรษฐกิจกลุ่มยูโร

นอกจากนั้น เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และ จีน ซึ่งเป็นประเทศที่จะช่วยดึงการเติบโตของเศรษฐกิจโลกขึ้นจากกลุ่มอียูที่ฉุดรั้ง เริ่มแผ่วลง จากดัชนีเศรษฐกิจหลายตัว อาทิ ดัชนีภาคการผลิต PMI (Purchasing Manager Index) ที่ส่งสัญญาณดังกล่าว ทำให้ความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวกว่าที่ประเมินไว้ มีความเป็นไปได้มากขึ้น

 
สำหรับปีนี้ แต่หากโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ จีน กลับปรับตัวขึ้น ดังที่กล่าวข้างต้นว่าจะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความเสี่ยงเรื่องระดับราคากลับมาใหม่ ก็อาจทำให้ทางการต้องดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวเล็กน้อยได้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและระดับราคาภายในประเทศ 
 
โดยสรุป ด้วยสถานการณ์ในปีนี้ TMB Analytics ประเมินว่า “น้ำหนักของปัจจัยจากต่างประเทศมีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยมากกว่าปัจจัยจากภายในประเทศ”  เราจึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินของกลุ่มประเทศหลักๆ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแรงขับของเศรษฐกิจในประเทศของไทยที่ฟื้นตัวจากน้ำท่วมค่อนข้างดีนั้น  ยังไม่มากพอที่จะชนะแรงกระเพื่อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความผันผวนจากต่างประเทศ จนถึงกับต้องใช้นโยบายการเงินตึงตัว  
 
ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้จึงมีทั้งโอกาสที่จะทรงตัวต่อเนื่องหรือปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง