อุปสรรคด้าน "กฎหมาย" สาเหตุหลัก "กสทช." แก้จอดำบอลยูโรไม่ได้

18 มิ.ย. 55
14:21
6
Logo Thai PBS
อุปสรรคด้าน "กฎหมาย" สาเหตุหลัก "กสทช." แก้จอดำบอลยูโรไม่ได้

วันนี้ (18 มิ.ย.) เครือข่ายผู้บริโภค รวมตัวทำกิจกรรมประท้วงจากกรณียังไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดฟุตบอลยูโร ผ่านสถานีโทรทัศน์ภาคปกติ หรือ ฟรีทีวี ในช่องจานดาวเทียมของทรูวิชั่นส์ ซึ่งที่สุดแล้ว ขณะนี้ก็ยังไม่มีมาตรการใด ๆ ที่ชัดเจน ออกมาจากหน่วยงานหน่วยงานที่กำกับโดยตรงอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เนื่องจากความไม่ชัดเจนในแง่ของกฎหมาย

 ปัญหาปัญหา  "จอดำ" ในการถ่ายทอดสัญญาณการแข่งขันฟุตบอลยูโร ผ่านฟรีทีวี ยังคงเป็นประเด็นให้กสทช.ซึ่งเป็นหน่วยองค์กรอิสระ มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการด้านวิทยุ โทรทัศน์ และ โทรคมนาคม โดยตรงยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ลงตัวร่วมกับทุกฝ่าย ทำให้เครือข่ายผู้บริโภค  ซึ่งเห็นว่าประชาชนเสียประโยชน์จากการไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโรครั้งนี้รวมตัวจัดกิจกรรมเตะฟุตบอล ล้อเลียน กสทช. ถึงภายในสำนักงาน จากความไม่จริงจังในการแก้ปัญหา

ขณะที่  วันนี้ (18 มิ.ย.) บอร์ด กสท. ก็ยังไม่มีมติใด ๆ ที่ชัดเจน ต่อประเด็นที่เครือข่ายผู้บริโภคเรียกร้อง ทั้งขอให้ออกคำสั่งให้ฟรีทีวียกเลิกการบล็อกสัญญาณถ่ายทอดฟุตบอล สอบสวนบริษัท กสท.โทรคมนาคม ที่เป็นผู้ถ่ายทอดสัญญาณ โดยทั้ง กสท. และแกรมมี่ยังไม่ได้ขออนุญาต กสทช. จนทำให้แกรมมี่ ได้ประโยชน์จากการผูกขาดลิขสิทธิ์ รวมถึงการขอให้ออกคำสั่งปรับทางปกครองกับบริษัทจีเอ็มเอ็มแซทด้วย

พ.อ.นที ศุกลรัตน์  รองประธาน กสทช.ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท.ให้เหตุผลว่า ไม่แน่ใจว่ามีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายหรือไม่ แม้จะมีการประกาศใช้แผนแม่บทกิจการวิทยุและโทรทัศน์แล้ว

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ระบุว่า มติดังกล่าวส่งผลให้ กสทช.ที่ดูแลงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคทำความเห็นสวนมติบอร์ดทุกประเด็น เพราะเห็นว่า เป็นปัญหาที่ควรแก้ไขเร่งด่วน โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ของพระราชบัญญัติประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ปี 2551 ดำนินการเอาผิดกับฟรีทีวีได้ โดยเฉพาะกรณีที่ไม่แจ้งปรับเปลี่ยนผังรายการให้ กสทช.ทราบล่วงหน้า

ขณะที่ นายสมเกียรติ  อ่อนวิมล นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น กสทช.ไม่ควรสับสน และควรปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี ไม่เช่นนั้นจะอยู่ในภาวะไร้อำนาจต่อไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 2550 เขียนชัดเจนว่า ช่อง 3 5 7 9 11 เป็นฟรีทีวี ที่รัฐให้สัมปทานคลื่นความถี่ ถือเป็นทรัพยากรของชาติ ประชาชนจึงมีสิทธิได้ดูโดยไม่เสียเงินไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบหรือช่องทางใดก็ตาม ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเห็นว่า แกรมมี่ ควรถูกตำหนิเพราะเอาเปรียบผู้บริโภค ขณะที่ช่องฟรีทีวี ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐก็ควรมีความผิดเช่นกันเพราะสมยอมปล่อยให้แกรมมี่เดินเกมจนเกิดปัญหาจอดำ

ด้านนายนำชัย น้อยบรรจง แกนนำสหพันธ์ผู้บริโภคเห็นว่า แกรมมี่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่ก็ไม่ควรละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการรับชมผ่านฟรีทีวี

ทั้งนี้ ในเดือน ก.ย.นี้  กสทช. คาดว่า กฎกติกาทุกอย่างจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งเรื่องการกำหนดกรอบ หลักเกณฑ์ และการให้ใบอนุญาตประเภทกิจการ ตามที่ กสทช. แบ่งประเภทไว้ทั้งทางด้านวิทยุ และโทรทัศน์ แต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น น.ส.สุภิญญา มองว่า อาจต้องให้ผู้บริโภคไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เป็นคดีตัวอย่าง และจะได้สร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นกับสังคม 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง