ภาพลวงตาของ "เรียลิตี้ โชว์" บิดเบือนหัวใจสำคัญของรายการ

Logo Thai PBS
ภาพลวงตาของ "เรียลิตี้ โชว์" บิดเบือนหัวใจสำคัญของรายการ

แม้ความสมจริงจะเป็นจุดขายของรายการเรียลิตี้ที่นิยมกันไปทั่วโลก แต่เบื้องหลังของรายการกลับมีไม่น้อยที่ถูกควบคุมเนื้อหาเพื่อสร้างเรื่องราวเรียกเรตติ้ง จนบ่อยครั้งข้อเท็จจริงซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของรายการถูกบิดเบือน

การขายโชว์ที่เกิดจากความสามารถอันหลากหลายของผู้เข้าแข่งขัน คือความสำเร็จของรายการ Got Talent ที่เป็นหนึ่งใน เรียลิตี้ โชว์ ที่เติบโตเร็วที่สุด และมีผู้ซื้อลิขสิทธิ์เกือบ 40 ประเทศทั่วโลก

รายการที่มีต้นกำเนิดในประเทศอังกฤษ ยังคงถูกวิจารณ์อยู่เสมอ เมื่อผู้ผลิตพยายามควบคุมรูปแบบของรายการ ตั้งแต่ข้อกล่าวหาเรื่องเขียนบทให้กรรมการวิจารณ์ตั้งแต่ยังไม่เห็นการแสดง  รวมถึงกลวิธีดึงผู้สมัครไร้ความสามารถมาออกรายการเพื่อเป็นเหยื่อให้กรรมวิจารณ์ โดย เกลน วิลสัน นักจิตวิทยา ให้ความเห็นว่าการสร้างภาพให้ผู้เข่าแข่างขันดูอนาถาน่าเห็นใจ ช่วยให้เรื่องราวหน้าจอดูน่าสนใจไม่น้อยไปกว่าความสามารถของพวกเขา

ความหมายของรายการเรียลิตี้ โชว์ ที่เน้นขายความสมจริง ถูกบิดเบือนมา ตั้งแต่รายการ The Real World เรียลิตี้ชีวิตวัยรุ่นอเมริกัน ที่สร้างกระแสให้กับรายการประเภทนี้ ถูกวิจารณ์จากสมาคมนักเขียนอเมริกาว่ามีการควบคุมกิจกรรมของผู้ร่วมรายการในแต่ละวันของโดยออกแบบสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ผลิต 

 
รูปแบบการจัดฉากในเรียลิตี้ โชว์มีอยู่หลากหลาย ตั้งแต่การลำดับภาพของผู้ร่วมรายการขึ้นมาใหม่เพื่อสร้างเรื่องราวที่ไม่เกิดขึ้นจริง บางรายการสร้างจุดเด่นด้วยรางวัลจูงใจ แต่ผู้ชนะกลับไม่ได้รับตามที่สัญญาไว้ ขณะที่เรียลิตี้ โชว์ชื่อดังอย่าง Survivor มีการควบคุม กระทั่งการแต่งกายของผู้ร่วมรายการเพื่อให้เหมาะสมกับการออกอากาศ ซึ่ง มาร์ค เบิร์นเนต ผู้สร้าง Survivor ยอมรับว่าสิ่งที่เขาสร้างในรายการไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นวิธีการนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจสำหรับรายการโทรทัศน์เท่านั้น
 
การควบคุมเนื้อหาของรายการเรียลิตี้ โชว์ ยังกลายมาเป็นปัญหาในรายการของเมืองไทย เมื่อ Thailand's Got Talent ถูกตั้งคำถามจากสังคมจากกรณีที่ผู้ประกวดหญิงวาดภาพด้วยเรือนร่าง ซึ่งถูกมองว่ามีการจัดฉากทั้งการเลือกผู้ประกวด จนถึงการวางบทให้กรรมการโต้เถียงกันผ่านหน้าจอโทรทัศน์ เพื่อเป็นการเพิ่มเรตติ้งให้กับรายการด้วยการนำประเด็นอื้อฉาวมาเป็นจุดขาย
 
โดย วรรณ์ขวัญ พลจันทร์ หัวหน้าภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ระบุว่า ความสามารถที่แท้จริงของผู้ประกวดในรายการเรียลิตี้ต่างประเทศนั้น อยู่ที่การแสดงความสามารถและพรสวรรค์อย่างแท้จริง โดยเรื่องราวภูมิหลังของผู้เข้าแข่งขันเป็นเพียงส่วนประกอบของรายการเท่านั้น มิใช่ส่วนหลักในการนำเสนอแบบของไทย 

ลีลาการร่ายกลอนของ อัมโร โคตาเมซ กวีชาวอียิปต์ที่ทำให้เขาเป็นผู้ชนะ Arabs Got Talent จนถึงความสามารถในการฝึกเจ้าพัดซีย์ให้กลายเป็นสุนัขเท้าไฟซึ่งคว้าแชมป์ Britain's Got Talent คือตัวอย่างการใช้ความสามารถที่แท้จริงของผู้เข้าประกวด ซึ่งเป็นแก่นที่แท้จริงของรายการที่เปิดโอกาสให้ผู้เปี่ยมทักษะแต่ไร้โอกาสได้มีเวทีพิสูจน์ตนเอง แต่การจัดฉากเพื่อรักษาเรตติ้งอาจทำให้หัวใจของรายการบิดเบือนไปจากจุดประสงค์ที่แท้จริง

 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง