ครม. ตีกลับ "อีลิค การ์ด" แต่ให้ก.ท่องเที่ยวยืม 20 ล้านใช้ฉุกเฉิน

เศรษฐกิจ
26 มิ.ย. 55
12:56
11
Logo Thai PBS
ครม. ตีกลับ "อีลิค การ์ด" แต่ให้ก.ท่องเที่ยวยืม 20 ล้านใช้ฉุกเฉิน

ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบฯ 20 ล้านให้โครงการไทยแลนด์ พริวิเลจ การ์ด ต่ออายุ ก่อนหน้าให้ศึกษาความเป็นได้ปิดกิจการอีลิท การ์ด ที่ขาดทุนต่อเนื่อง

 นางสาวศันสนีย์ นาคพงษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 งบประมาณกลาง รายการสำรองเงินจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 20 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องทางด้านการเงินบริษัท ไทยแลนด์พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2555  โดยให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเร่งทำแผนระยะเร่งด่วนและระยะปานกลางในการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ของบริษัทรวมทั้งทำแผนธุรกิจในเชิงลึกทางด้านการเงิน การตลาด และการบริหาร 

 
นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด(ทีพีซี) ผู้บริหารโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ (ไทยแลนด์ พริวิเลจ การ์ด) หรืออีลิท การ์ด กล่าวว่า นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ ทีพีซี ไปดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ เร่งดำเนินการสรรหา ผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ บริษัทเน้นต้องเป็นมืออาชีพ ทั้งเร่งจัดทำแผนธุรกิจให้มีความเป็นรูปธรรม ลงรายละเอียดเชิงลึก ทั้ง แผนการตลาด และ แผนการเงิน โดยให้กลับมานำเสนอภายใน 2 เดือนนับจากนี้ และห้นำเงิน 20 ล้านบาทที่ ครม. อนุมัติครั้งนี้ไปใช้เพื่อเสริมสภาพคล่องขององค์กร โดยถึงขณะนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ยังไม่ได้ยกเลิกมติ ครม.เดิมในเรื่องของการศึกษาการปิดกิจการ ของทีพีซี 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า นายชุมพล ได้เสนอที่ประชุม ครม.ให้กลับมาดำเนินกิจการของโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ (ไทยแลนด์ พริวิเลจ การ์ด) หรืออีลิท การ์ด อีกครั้ง ภายหลังจาก นายชุมพลเคยเสนอครม.ในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเมื่อ 26 เมษายน  2554 ให้ยุบเลิกกิจการของบริษัททีพีซี อย่างไรก็ตาม จากที่นายชุมพลได้เสนอครม. เพื่อขออนุมัติงบประมาณปี 2555 เป็นวงเงินรวม 581.65 ล้านบาท แบ่งเป็น 500 ล้านบาท เพื่อชำระค่าหุ้นของบริษัท และ 81.65 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องด้านการเงินของบริษัท แต่ที่ประชุมครม.อนุมัติให้เพียง 20 ล้านบาทเพื่อไปแก้ปัญหาสภาพคล่องในช่วง 2 เดือนนี้ไปพลางก่อน 
 
เหตุผลที่ครม.ตัดสินใจดังกล่าว เนื่องมาจาก ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ตั้งคำถามหลายประเด็น โดยกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นว่ากระทรวงท่องเที่ยวควรจัดทำรายละเอียดของแผนธุรกิจ แนวทางการบริหารความเสี่ยง กลยุทธ์การจัดหาสมาชิก การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการ และระบบตรวจสอบการดำเนินงาน รวมทั้งการประเมินผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงต่อประเทศมานำเสนอด้วย 
 
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ เห็นว่า วงเงินงบประมาณที่ขออนุมัติค่อนข้างสูง จำเป็นต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของงบประมาณและผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางบวกและลบ จึงควรมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่ถูกต้องและชัดเจน เช่น แผนรองรับการยุบเลิกโครงการฯผลตอบแทนที่ประเทศจะได้รับจากความเป็นไปได้ของโครงการจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย รวมทั้งควรจัดทำรายละเอียดของแผนธุรกิจของโครงการให้ ครม.พิจารณาก่อน ดังนั้น สำนักงบประมาณจึงสรุปว่ากระทรวงท่องเที่ยวและกีฬายังไม่ได้เสนอข้อมูลในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ทั้งการเปรียบเทียบผลดีและผลเสียในการดำเนินโครงการต่อไป ซึ่งจะเป็นสาระสำคัญต่อการตัดสินใจของครม. จึงเห็นควรให้อนุมัติเงินจากงบปี 2555 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 20 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของบริษัทในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.ไปก่อน 
 
 
 
 
 
 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง