"จีน" มอบ "ระบบก๊าซชีวภาพ" แก่ไทย 300 ชุด

Logo Thai PBS
"จีน" มอบ "ระบบก๊าซชีวภาพ" แก่ไทย 300 ชุด

รัฐบาลจีนให้ความช่วยเหลือส่งเสริมการสร้างบ่อก๊าซชีวภาพสำหรับครัวเรือนในไทย มอบระบบบ่อก๊าซชีวภาพแบบสำเร็จรูป 300 ชุด หลังจีนส่งเสริมให้ปชช.ทำแล้ว เกิดประโยชน์ ทั้งพลังงานสะอาด และประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน พล.ต.ท.ลัทธสัญญา เพียรสมภาร ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธี รับมอบหนังสือแลกเปลี่ยน เพื่อเป็นข้อตกในการดำเนินงานโครงการร่วมกันกับฝ่ายจีน ซึ่งจะมอบระบบผลิตก๊าซชีวภาพสำหรับครัวเรือนแก่ไทย 300 ชุดโดยมีนายกวน มู่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และนายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

นายไกรฤทธิ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว รัฐบาลจีน โดยสถาบันป้องกันสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานด้านวิศวกรรมของจีน ประสานความร่วมมือ มายังกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อเสนอในการจัดสร้างบ่อก๊าซชีวภาพให้แก่ชุมชนในชนบทของไทย  ซึ่งโครงการนี้สืบเนื่องมาจาก ความร่วมมือในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง GMS เมื่อปี 2551 หลังจากการลงนามในสัญญาวันนี้ (28 มิ.ย.55) จะปรึกษาร่วมกันระหว่างจีนกับไทย ว่าเห็นควรนำระบบนี้ไปติดตั้งจุดใดบ้าง โดยระบบบ่อก๊าซชีวภาพของจีน 300 ชุด สามารถไปอยู่ตามบ้านเรือนที่มีการเลี้ยงสัตว์อย่างน้อย  3-4 ตัว ขึ้นไป ระยะเวลาหลังการลงนาม จีนจะให้ที่ปรึกษา ผลิตระบบและติดตั้งให้กับไทย โดยคาดว่าภายใน 1 ปีจะเรียบร้อย  ส่วนค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ที่ติดตั้ง จะอยู่ที่ประมาณ 80,000 บาทต่อชุด  รวมมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจีนให้ความช่วยเหลือ 15 ล้านบาท  และไทยจะมีงบประมาณในการดำเนินงานอีก 7 ล้านบาท
 
ด้านนาย กวน มู่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ในจีนมีพื้นที่ชนบทจำนวนมาก ในบางพื้นที่ รัฐบาลพยายามที่จะส่งกระแสไฟเข้าไปในพื้นที่ ให้ครบทุกหมู่บ้านแต่ทำได้ยาก และค่อนข้างลำบาก แต่เมื่อมีระบบก๊าซชีวภาพ ประชาชนที่เลี้ยงสัตว์ ก็สามารถที่จะมีแหล่งพลังงานหุงต้ม และทำไฟฟ้าใช้ได้ รัฐบาลจีนจึงส่งเสริม  และให้เป็นตัวอย่าง เพื่อพัฒนาพลังงานสะอาด และเป็นประหยัดทรัพยากรณ์สิ่งแวดล้อมด้วย
 
ขณะที่ นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ระบบผลิตก๊าชชีวภาพ คือการนำของเสียมาหมัก และเติมจุลินทรีย์ ตามกระบวนการ จากนั้นจะได้ก๊าซผสมออกมาเป็นพลังงานหลายรูปแบบ ซึ่งในไทยถือว่า ก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทนที่ก้าวหน้ามากที่สุด ปัจจุบันมีระบบผลิตกว่า 1,000 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีทั้งแหล่งผลิตที่มาจากน้ำเสียโรงงาน  เช่น โรงน้ำมันปาล์ม โรงงานแป้งมัน ฟาร์มสุกร ฟาร์มไก่ ซึ่งมีหลายระบบที่นำมาผลิตเป็นไฟฟ้า ซึ่งปัจุบันสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 250 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายภายใน 10 ปี จะทำให้ได้ 60 เมกะวัตต์  ถือเป็น 1 ใน 3 ของเป้าหมาย และ ในช่วง 3-4 ปี แต่ในอนาคตก๊าซชีภาพจะความสำคัญ  เพราะไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจ ด้านการเกษตร ซึ่งมีวัสดุเหลือใช้ที่สามารถนำมาประยุกต์ได้อย่างมากมายและหลากหลาย

ทั้งนี้ รูปแบบระบบก๊าซชีวภาพที่ฝ่ายจีนจะมอบให้แก่ไทยนั้น เป็นแบบ Fixed Dome สำเร็จรูป ซึ่งมีปริมาณสุทธิ 6 ลูกบาศก์เมตร ผลิตด้วยไฟเบอร์กลาส และพลาสติก เป็นแบบที่ผลิตในประเทศจีน ชิ้นส่วนอุปกรณ์จะแยกเป็น 3 ส่วน เพื่อง่ายต่อการเคลื่อนย้ายขนส่งไปประกอบและติดตั้ง โดยมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งระบบบ่อก๊าซชีวภาพ เหมาะสำหรับใช้กับครัวเรือนที่มีสมาชิกประมาณ 4-5 คน มีหมู 2-4 ตัว มีปริมาณมูลหมู 4-8 กิโลกรัมต่อวัน ใช้ได้กับการหุงต้มจำนวน 3 มื้อต่อวัน ซึ่งจะช่วยครัวเรือนประหยัดค่าใช้จ่ายในการหุงต้ม

**ภาพจาก : อินเตอร์เน็ต**


ข่าวที่เกี่ยวข้อง