หนุมาน เอฟซี ซุ่มซ้อม "หุ่นยนต์ เตะฟุตบอลไทย" ในเวทีโลก

Logo Thai PBS
หนุมาน เอฟซี ซุ่มซ้อม "หุ่นยนต์ เตะฟุตบอลไทย" ในเวทีโลก

 หลังจากคว้าแชมป์การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2555 หนุมาน เอฟซี (Hanuman FC) ทีมหุ่นยนต์จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)  ซึ่งมีสมาชิกในทีมทั้งหมด 4 คน ได้แก่ นายวิษณุ จูธารี นายธนา วิชิโต นายคเณศ ถุงออด และนายณรงศักดิ์ ถิรสุนทรากุล นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ภายใต้การควบคุมดูแลโดย ดร.สุริยา นัฏสุภัคพงศ์ อาจารย์ที่ปรึกษาทีม กำลังซุ่มซ้อมปรับแผนการเล่นบอลรุก-รับอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรายการ World Robo Cup (Humanoid League) ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2556 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์  

 
นายวิษณุ จูธารี ในฐานะหัวหน้าทีม กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมก่อนไปแข่งขันระดับโลกว่า หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ (Humanoid) เป็นหุ่นยนต์เตะฟุตบอลซึ่งประกอบไปด้วยหุ่นยนต์ 3 ตัว ซึ่งขณะนี้ทางทีมได้ปรับแผนซ้อมและพัฒนาระบบหุ่นยนต์เพิ่มเติม และรวบรวมข้อเสียของหุ่นยนต์ทั้ง 3 ตัว มาเขียนโปรแกรมใหม่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการเคลื่อนที่และการเข้าตำแหน่งของหุ่นยนต์ที่ต้องมีความเสถียรและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงการส่งต่อลูกบอลให้ฝ่ายเดียวกัน ถ้าหุ่นยนต์อีกตัวอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกว่าในการทำประตู 
 
“ตอนนี้ได้มีการปรับโปรแกรมการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ทั้ง 3 ตัว ให้เคลื่อนไหวได้คล่องตัวยิ่งขึ้น ล้มแล้วลุกเร็วขึ้น และรู้ตำแหน่งของตัวเองว่าอยู่ตรงส่วนไหนของสนาม เทคนิคคือ เข้าบอลเร็ว มองหาประตูแล้วยิงเลย เน้นการยิงเป็นหลัก รู้จังหวะการวิ่งเข้าไปเล่นบอลและอยู่ในตำแหน่งเพื่อรอบอลจากเพื่อนร่วมทีม การเล่นฟุตบอลของหุ่นยนต์ก็เหมือนการเล่นฟุตบอลของคน เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเล่นเป็นทีม”
 
ทั้งนี้ หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ เป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติ ที่ออกแบบขึ้นมาโดยมีพื้นฐานมาจากร่างกายมนุษย์ โดยรุ่นที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้เป็นรุ่น Kid size ตัวหุ่นยนต์มีขนาดความสูงประมาณ 50 ซม. ภายในทีมมีหุ่นยนต์ 3 ตัวด้วยกันคือ ผู้รักษาประตู และผู้เล่น 2 ตัว ระบบการทำงานแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. การมองเห็น ผ่านกล้องเว็บแคมในการจับภาพต่างๆ รอบตัวของหุ่นยนต์ ทำหน้าที่คล้ายกับตาของคนเราที่คอยมองสิ่งต่างๆ รอบตัว จากนั้นจะส่งภาพที่บันทึกได้ไปประมวลผลในส่วนที่ 2. สมอง ซึ่งเป็นเครื่องพีซีขนาดเล็กทำหน้าที่ประมวลผลและตัดสินใจในการทำงานของหุ่นยนต์ ก่อนจะส่งคำสั่งไปยังส่วนที่ 3. คือ ส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ ทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนไหวไปยังทิศทางอย่างตรงเป้าหมาย 
 
สำหรับกติกาการแข่งขันฟุตบอลของหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ เป็นไปตามกติกาการแข่งขันของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ FIFA  มีเพียงบางส่วนที่อาจลดหย่อนเพื่อให้เหมาะสมกับการแข่งขันของหุ่นยนต์ ซึ่งการแข่งขันจะส่งเสริมในด้านความคิดสร้างสรรค์ และการพัฒนาด้านเทคนิคของแต่ละทีม
 
นายวิษณุ ยังกล่าวอีกว่า การได้แชมป์การแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอลฮิวมานอยด์ในระดับประเทศติดต่อกัน 3 สมัยของสถาบันฯ นับเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันยอมรับว่ารู้สึกกดดันในฐานะที่เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับโลก เพราะทางทีมตั้งเป้าหมายว่าจะพยายามเข้าสู่รอบ4 ทีมสุดท้ายให้ได้ เนื่องจากการแข่งขันทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ตัวแทนทีมไทยทำได้ดีที่สุดแค่รอบ 8 ทีมสุดท้าย
 
“การช่วงชิงพื้นที่ในรอบสี่ทีมสุดท้ายนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากทีมคู่แข่งแต่ละประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น สามประเทศนี้ระบบของเขาพัฒนาไปไกลมาก และมีศักยภาพสูงทั้งในด้านการสนับสนุนเงินทุน กำลังคน แต่เรายังหวัง ทุ่มเท และพยายามที่จะเข้าสู่รอบสี่ทีมสุดท้ายให้ได้ คือเราต้องเต็มที่ไปด้วยกัน ฝันให้ไกลไปให้ถึงครับ” 
ด้าน ดร.สุริยา นัฏสุภัคพงศ์ อาจารย์ที่ปรึกษาทีม สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) กล่าวว่า การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาที่เรียนในด้านนี้พัฒนาทักษะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละแมตซ์การแข่งขัน นักศึกษาจะได้ประสบการณ์จากในสนามและนำมาพัฒนาต่อยอดหุ่นยนต์ของนักศึกษาเองอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  ซึ่งในปีการศึกษา 1/2555 นี้ มจธ.ยังได้เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ระดับปริญญาโทวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ) วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิชาธุรกิจเทคโนโลยี)  รวมถึงระดับปริญญาเอก ในปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (วิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ) 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง