สอนให้เด็กพอเพียง

30 มิ.ย. 55
09:10
67
Logo Thai PBS
สอนให้เด็กพอเพียง

 สภาพสังคมในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาลัทธิบริโภคนิยม ความแตกแยกทางความคิด ยาเสพติด ความรุนแรง การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ฯลฯ ล้วนทำให้เราต้องปลูกฝังให้เยาวชนรู้คิด ซึ่งนอกจากผู้ปกครองจะต้องดูแลให้คำปรึกษาบุตรหลานอย่างใกล้ชิดแล้ว โรงเรียนนับเป็นสถานที่สำคัญที่จะบ่มเพาะให้เด็กรู้เท่าทันและจัดการปัญหาต่างๆ

 
ในเวทีถอดบทเรียนความสำเร็จผู้บริหารและครูโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา 27 แห่ง จัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล มีเรื่องราวดีๆ ของ "ครูพอเพียง" ที่นอกจากจะมุ่งสอนวิชาการแล้ว ยังนำหลักความพอเพียงเป็นภูมิคุ้มกันให้ลูกศิษย์ใช้ชีวิตในสังคมอย่างปลอดภัย และมีความสุข 
 
เริ่มจาก อ.สุทธิรัตน์ เสนีชัย และ อ.จรวยพรรณ เย่าเฉื้อง โรงเรียนห้วยยอด จังหวัดตรัง เล่าว่า ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการสอน และส่งต่อให้เด็กๆ ใช้เป็นหลักดำเนินชีวิต ทั้งนี้ เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องของการปลูกผักทำการเกษตรอย่างที่มีคนเข้าใจ แต่เป็นหลักคิดที่ว่า “ไม่ว่าเราจะทำอะไรจะต้องคิดให้ดีก่อนแล้วจึงลงมือปฏิบัติ”ไม่นำพาตนเองเข้าไปสู่ความเดือดร้อน เสียหาย
 
ด้วยเหตุนี้ ครูจึงต้องหมั่นตั้งคำถามให้นักเรียนได้ขบคิด รู้จัก เห็นค่า และรักตัวเองให้เป็นก่อนเป็นด่านแรก ครั้นทำมากเข้า นักเรียนของเราก็จะคิดเป็น เห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ทั้งไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน พัฒนาเป็นจิตอาสา รัก และหวงแหนชุมชนในที่สุด
 
ยกตัวอย่างการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์ในการสอนวรรณคดีไทย ชั้น ม. 4 มีสาระการเรียนรู้ข้อหนึ่งคือ “ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว”เมื่อภาคการศึกษาที่ผ่านมา อ.จรวยพรรณจึงหยิบยกละครหลังข่าวเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” ที่วัยรุ่นนิยมติดตามชมมาเป็นบทเรียนให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของตัวละคร “หากเป็นเราๆ จะนำแบบอย่างที่ดีของตัวละครมาใช้อย่างไร และสิ่งไหนเป็นสิ่งไม่ดี เราควรละเว้น” 
 
เช่นเดียวกับวรรณคดีเรื่องอื่นๆ อ.จรวยพรรณ ออกแบบให้นักเรียนได้สนุกสนานกับการเรียนรู้แบบโครงงาน เช่นเรื่อง “อิเหนา” ตอนศึกกะหมังกุหนิง ซึ่งมีใจความเชิดชูคุณค่าของคนดีในการสร้างสรรค์สังคมให้อยู่เย็นเป็นสุข อ.จรวยพรรณมอบหมายให้นักเรียนสืบค้นของดีและภูมิปัญญาในท้องถิ่นจากพ่อแม่และผู้ใหญ่ในชุมชน จากนั้นจัดทำรายงานโดยใช้หลักภาษาไทยที่ถูกต้อง วิธีนี้นอกจากลูกศิษย์จะได้เรียนรู้วิชาการอย่างหลากหลายจากการลงมือปฏิบัติแล้ว ยังได้เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิต วิธีการทำงานร่วมกับชุมชน หลายคนยังจะได้ความรู้ไปประกอบอาชีพ
 
“ครูมักบอกว่าเด็กเปรียบเหมือนกับบัวสี่เหล่า เด็กเองก็สะท้อนกลับมาเหมือนกันว่าถ้าเช่นนั้น ครูก็เปรียบดังสายน้ำล้อมรอบให้ชีวิต มันก็ทำให้เราได้คิดเหมือนกันว่าเราจะต้องเป็นน้ำดีให้กับเขา หากเขาเป็นบัว ก็จะเป็นบัวที่มีโอกาสเจริญงอกงามมากที่สุด” อ.สุทธิรัตน์ จากโรงเรียนห้วยยอดเสริม
 
อีกหนึ่งเรื่องเล่า คราวนี้มาจากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์ส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ อ.เกรียง ฐิติจำเริญพร เล่าว่า ที่โรงเรียนเองก็มีแนวคิดสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กคล้ายๆ กับโรงเรียนห้วยยอดคือเน้นทักษะให้นักเรียน “คิดเป็น”มากกว่าการท่องจำ เช่น การนำใบเสร็จในครัวเรือนมาวิเคราะห์ว่าข้าวของชิ้นไหนเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไหนเป็นความฟุ่มเฟือย เพราะหากคนรุ่นใหม่ “คิดได้คิดเก่ง” เขาก็จะนำพาชีวิตตัวเองไปสู่ทางที่ดี มีความสุขได้
 
“วันหนึ่งข้างหน้าเขาอาจร่ำรวยเป็นเศรษฐี แต่ก็ไม่ได้มาจากการเอารัดเอาเปรียบ หรือแม้เขาจะล้มเหลว เขาและครอบครัวก็ยังมีหลัก อยู่ได้ ไม่ทำร้ายตัวเอง จุดสำคัญคือเราต้องสอนให้นักเรียนฉลาดในการคิด รู้คิดอย่างมีเหตุมีผล และรู้ใช้ชีวิตให้เป็นด้วย” อ.เกรียง ย้ำ
 
ส่วนเรื่องเล่าสุดท้ายมาจากโรงเรียนชุมชนบ้านห้วยค้อมิตรภาพที่ 206 จังหวัดขอนแก่น อ.เบญจมาศ สิงห์น้อย เล่าว่าได้ใช้ความจริงใจบวกกับความทุ่มเทเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา จากแต่ก่อนชุมชนมีฐานะยากจน นักเรียนอดมื้อกินมื้อ เมื่อกินไม่อิ่ม จิตใจใฝ่เรียนรู้ก็ย่อมเหลือน้อย ทางโรงเรียนจึงยกแปลงเกษตรให้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งพ่อแม่ ครู และเด็กๆ ได้ปลูกผัก ดำนา ขุดบ่อเลี้ยงปลา และเลี้ยงไก่ เพื่อนำผลผลิตที่ได้เป็นอาหารให้นักเรียนได้อิ่มท้อง เหลือก็นำกลับไปทำกินที่บ้าน เมื่อท้องอิ่ม ครอบครัวก็มีความสุข ความอบอุ่นก็ไม่หนีไปไหน เด็กๆ ก็พร้อมเรียนรู้
 
ด้านชุมชน เมื่อครอบครัวเข้มแข็ง เขาก็พร้อมจะเป็นฝ่ายหยิบยื่นให้โรงเรียนบ้างโดยไม่มีการเรียกร้อง สายใยความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เคยกระจัดกระจายก็พลอยแข็งแรงด้านลูกศิษย์ เมื่อได้ความรัก ได้รับโอกาสพัฒนาตนเอง และได้เห็นแบบอย่างที่ดีจากครูๆ จึงซึมซับเป็นสำนึกที่ดี มีความรับผิดชอบ รู้จักยับยั้งชั่งใจไม่หลงมัวเมากับสิ่งยั่วยุต่างๆ รักและหวงแหนชุมชน 
 
“ลูกศิษย์หลายคนทุกวันนี้ยังแวะเวียนกลับมาทำประโยชน์ให้โรงเรียน หลายคนกลับมาเป็นครูตั้งใจทำงานพัฒนาบ้านเกิด เพราะอยากมอบโอกาสให้กับคนอื่นบ้าง”ครูโรงเรียนชุมชนบ้านห้วยค้อมิตรภาพฯ กล่าวปิดท้ายอย่างมีความสุข
 
หากเด็กๆ ของเรามี “ครูที่ดี”เป็นแบบอย่าง ช่วยบ่มเพาะให้เขารู้ใช้ชีวิตบนความพอเพียง มีภูมิคุ้มกันในตนเอง ต่อให้มีสิ่งยั่วยุ ตลอดจนภัยสังคมต่างๆ มากมายเพียงใดก็คงยากจะกล้ำกรายทำร้ายลูกหลานของเราแน่นอน
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง