เปิดแนวทางศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนคดีแก้ไขรธน. พรุ่งนี้

4 ก.ค. 55
17:05
13
Logo Thai PBS
เปิดแนวทางศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนคดีแก้ไขรธน. พรุ่งนี้

กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกตัวเองว่า กองทัพปลดแอกประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เข้าปักหลักชุมนุมให้กำลังใจศาล ขณะที่กลุ่ม นปช.แสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ให้ใบแดงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนคดีแก้รัฐธรรมนูญจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนในวันพรุ่งนี้ โดยศาลรัฐธรรมนูญเรียกเบิกความพยานฝ่ายละ 2 คนเท่านั้น

<"">
 
<"">

แม้ฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายผู้ถูกร้องจะยื่นเอกสารพร้อมคำให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญ รวมแล้ว 27 ปาก แต่ผลการตรวจพยานและเอกสาร ศาลรัฐธรรมนูญ เรียกฝ่ายผู้ร้องแถลงด้วยวาจารวม 7 คน และฝ่ายผู้ถูกร้อง รวม 8 คน ซึ่งนอกจากผู้เกี่ยวข้องในคำร้องแล้ว ศาลเรียกนักวิชาการหรือนักกฎหมายเข้าเบิกความเพียงฝ่ายละ 2 คน

นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญ แถลงยกคำร้องกรณีขอให้ศาลวินิจฉัยเหตุที่เลขาธิการรัฐสภาและประธานรัฐสภาไม่นำร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเข้าข่ายตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและเห็นว่าเป็นการร้องเรื่องบทบาทหน้าที่จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์

ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มกิจกรรมของกลุ่มในกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งที่สนับสนุนและคัดค้านการทำหน้าที่ของศาล โดยนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด นำมวลชนแนวร่วม กลุ่ม นปช. ในส่วนของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เดินทางไปแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการให้ใบแดงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 

 
ขณะที่กลุ่มมวลชนที่เรียกตัวเองว่า กองทัพปลดแอกประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เข้าปักหลักชุมนุมให้กำลังใจศาล รวม 3 วัน โดยมีแนวร่วมที่แสดงเจตนาจะมาสมทบการชุมนุมในวันพรุ่งนี้ ( 5 ก.ค.) อีกคือ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ 
 
วันพรุ่งนี้ (5 ก.ค.)ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นนัดแรกของการเบิกความในคดีกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ ตามคำร้องที่ผู้ร้องยื่นอ้างอิงรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่าด้วยการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
 
โดยเริ่มที่ฝ่ายผู้ร้องก่อน ซึ่งศาลเรียก พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม,นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์,นายวันธงชัย ชำนาญกิจ,นายวิรัตน์ กัลยาศิริ,นายสุรพล นิติไกรพจน์,นายวรินทร์ เทียมจรัสและนายบวร ยสินทร เข้าแถลงคดีด้วยวาจาต่อองค์คณะตุลาการ โดย 2 ใน 7 คนนี้ นั่นคือนายสุรพลและนายเดชอุดม เข้าเบิกความในฐานะพยานที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แม้ก่อนหน้านี้จะยื่นรายชื่อพยานและคำให้การไปรวม 16 ปากก็ตาม
 
ในวันถัดไปจะเป็นฝ่ายผู้ถูกร้อง ที่ศาลเรียกแถลงด้วยวาจา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์หรือผู้แทน นายวัฒนา เซ่งไพเราะ, นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล,นายโภคิน พลกุล,นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ,นายอุดมเดช รัตนเสถียร,นายสามารถ แก้วมีชัย,นายชุมพล ศิลปอาชา และนายภราดร ปริศนานันทกุล โดยบุคคลทั้งหมดเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ เว้นเพียงนายโภคิน ที่เป็นมือกฎหมายของพรรคเพื่อไทยและนายวรวัจน์ ซึ่งเป็นผู้แทนจาก คณะรัฐมนตรี
 
ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับ 5 คำร้อง ทั้งจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์,ส.ว.กลุ่มหนึ่งและจากภาคประชาชน รวมถึงนักวิชาการที่เข้ายื่นเรื่องให้วินิจฉัยโดยอ้างอิงถึงมาตรา 68 ว่าด้วยการพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีแห่งรัฐธรรมนูญย่อมมีสิทธิเสนอ
 
เรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการเลิกการกระทำได้ และแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือการตีความในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญแต่ผลสรุปในบทบาทนั้น ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ออกแถลงด้วยตัวเองยืนยันเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย

สอดคล้องกับผู้ร้องทั้ง 5 กลุ่ม รวมถึง พล.อ.จำลอง ศรีเมืองและพวกอีก 1 กลุ่ม ต่างอ้างอิงถึงมาตรา 212 ที่ยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดแล้ว แต่ไม่เป็นผลจึงสามารถยืjนโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ขณะเดียวกันคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่อัยการสูงสุดแต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคำร้องก็แถลง "ไม่ปรากฎการกระทำตามคำร้องและชี้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจโดยชอบของรัฐสภา" 

สำหรับมติรับคำร้องก่อนหน้านี้ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมพิจารณาคำร้องรวม 8 คน ขาดเพียงนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ที่ขอลาประชุม โดยมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยได้ ส่วนเสียงข้างน้อย คือนายชัช ชลวรเพียงคนเดียว เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้ 

 
ขณะที่มติชี้ขาดหลังกระบวนการไต่สวน จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำยืนยันว่า จะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 6 ก.ค.หรือจะนัดหมายหลังเบิกความพยานไปอีกสัปดาห์หนึ่งเพื่อฟังคำวินิจฉัยอย่างที่เคยประกาศไว้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง