พม่าเปิดประชุมสภาอีกครั้ง เตรียมผ่านกฎหมายลงทุนจากต่างประเทศ

Logo Thai PBS
พม่าเปิดประชุมสภาอีกครั้ง เตรียมผ่านกฎหมายลงทุนจากต่างประเทศ

 ทับขวัญ หอมจำปา จากศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ รายงานว่า วันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าได้เริ่มการประชุมรัฐสภาวาระที่ 4 ขึ้น โดยจะใช้เวลาในการประชุมจนถึงเดือนกันยายนเพื่อพิจารณาอนุมัติกฎหมายหลายฉบับ รวมถึงกฎหมายที่ทั่วโลกกำลังจับตามองอยู่ คือ กฎหมายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ Foreign Investment Law (FIL) ซึ่งได้รับการเสนอในวาระนี้เพื่อขออนุมัติแก้ไขกฎหมายเดิมที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 1988  

 
ทั้งนี้ FIL ฉบับแก้ไขจะเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่นักธุรกิจต่างชาติ ทั้งในด้านการยกเว้นภาษีจาก 3 ปีแรก เป็น 5 ปีแรก และอาจขยายเป็น 8 ปี หากธุรกิจเข้าข่ายเกณฑ์ที่กำหนด หรือในด้านการเพิ่มสิทธิการเช่าที่ดินโดยตรงจากภาคเอกชนพม่า จากเดิมที่ต้องทำสัญญาเช่ากับรัฐบาลเท่านั้น และขยายระยะเวลาการเช่าที่ดินจาก 30 ปี (ไม่รวมระยะเวลาขยายสัญญา) มาเป็น 50 ปี เป็นต้น 
 
นักลงทุนต้องร่วมมือพัฒนาประเทศด้วย หากต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว การลดอัตราการว่างงานในประเทศและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญในการร่าง FIL นี้ โดยมีข้อกำหนดการจ้างคนงานพม่าเป็นหลักในตำแหน่งงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะ และการจ้างคนงานพม่าในตำแหน่งที่ใช้ทักษะในสัดส่วนที่มากขึ้นเป็นขั้นบันได ดังนั้น บริษัทต่างชาติจึงต้องจัดให้มีการฝึกอบรมพนักงานเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีควบคู่ไปด้วย
 
FIL ผ่านการพิจารณามาแล้วครั้งหนึ่งแต่ไม่ได้รับอนุมัติเนื่องจากยังมีข้อถกเถียง   ในวาระการประชุมสภาครั้งที่แล้ว ยังติดประเด็นผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกในพม่าที่ขาดความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนได้ง่ายขึ้น และได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่า ตลอดจนเรื่องการให้หลักประกันจากรัฐบาลว่าจะไม่ยึดกิจการ ก็ยังเป็นประเด็นถกเถียงที่ค้างมาจากครั้งที่แล้ว ทำให้การพิจารณาอนุมัติกฎหมายฉบับนี้อาจยืดยาวกว่าปกติที่ส่วนมากใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
 
โดยนักลงทุนชาติตะวันตกอยู่ในภาวะ wait-and-see จนกว่ากฎหมายจะชัดเจน  นักลงทุนที่ไม่คุ้นเคยกับการลงทุนในพม่าน่าจะรอให้ FIL ได้รับการอนุมัติและใช้เวลาในการศึกษาให้ถ่องแท้เสียก่อน จึงจะตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้ กฎหมายฉบับอื่นที่ถูกเสนอพร้อมๆ กันในการประชุมวาระนี้ เช่น กฎหมายปราบปรามคอร์รัปชั่น และกฎหมายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ อาจสร้างแรงกระตุ้นการลงทุนด้วยเช่นกัน ดังนั้น อาจต้องรอจนการประชุมครั้งนี้เสร็จสิ้น จึงจะเริ่มเห็นการเติบโตของ FDI อย่างมีนัยสำคัญ จึงนับเป็นช่วงจังหวะสุดท้ายสำหรับไทยก่อนการไหลทะลักของเงินลงทุน
 
 
จับตาดูอัตราเงินจ๊าดที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากที่อ่อนตัวลงสูงสุดกว่า 9% พม่าได้มีมาตรการทางการเงินเพื่อให้เงินจ๊าดอ่อนค่าลงล่วงหน้าก่อนที่อุปสงค์เงินจ๊าดจะสูงขึ้นอย่างฉับพลันจากการไหลทะลักเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ แต่ขณะนี้ค่าเงินทางการได้เริ่มแข็งค่าขึ้นแล้ว โดยอยู่ที่ประมาณ 880 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากช่วงสัปดาห์ที่แล้วที่อ่อนตัวลงต่ำสุดที่ 890 จ๊าด อย่างไรก็ตาม ค่าเงินจ๊าดในช่วงเดือนนี้อาจยังมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนของกฎหมายลงทุน
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง