ชายแดนท่าขี้เหล็ก ตรวจเข้ม เด็กกัมพูชาข้ามมาฝั่งไทย

สังคม
18 ก.ค. 55
04:44
23
Logo Thai PBS
ชายแดนท่าขี้เหล็ก ตรวจเข้ม เด็กกัมพูชาข้ามมาฝั่งไทย

ด่านชายแดนช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ มีการตรวจคัดกรองเด็กเล็กชาวกัมพูชา ที่ข้ามมายังฝั่งไทย เช่นเดียวกับจ.อุบลราชธานี ซึ่งมีพื้นที่กับชายแดน ประเทศลาวและกัมพูชา กว่า 20 แห่ง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเน้นการตรวจคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยง และพร้อมให้กักกันโรคทันทีหากพบเด็กป่วยมากกว่า 10 คน ใน 1 วัน

ขณะที่ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ประจำด่านพรมแดนแม่สาย จ.เชียงราย นำเครื่องตรวจทำการวัดไข้เด็กพม่าและเด็กไทย ที่ข้ามพรมแดนจากจ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า  และการประชุมคณะกรรมการชายแดน ไทย-พม่า ส่วนท้องถิ่น หรือ ทีบีซี ครั้งที่ 29 ที่อ.แม่สอด จ.ตาก ก็มีการหารือปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะโรคมือเท้าปากที่เคยระบาดในชายแดนไทย-พม่า ก่อนหน้านี้ด้วย

ซึ่งมีรายงานว่า พบโรคมือ เท้า ปาก ระบาดหนักในหลายอำเภอ ของจ.นครศรีธรรมราช โดย พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา นายแพทย์สาธารณสุขจ.นครศรีธรรมราช ระบุ เจ้าหน้าที่ตรวจพบการระบาดของโรคมือเท้าปากแล้วในหลายอำเภอของจ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะในอ.เมือง อ.ทุ่งสง และอ.ท่าศาลา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบชนิดของเชื้อโรค

ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (17ก.ค.55) หารือการแพร่ระบาดของโรคมือท้าปาก หลังพบการระบาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจ.นนทบุรี โดยให้ความเห็นชอบในหลักการให้ 3 กระทรวงคือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ  และ กระทรวงมหาดไทย ทำงานร่วมกันในการดูแล และป้องกันโรค และ 6 มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค, การเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรค ให้ความรู้แก่ประชาชนในการรักษาสุขอนามัย นอกจากนี้ สั่งการให้แต่ละจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากกว่าวันละ 10 คน เปิดศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดหรือวอร์รูม รวมทั้งคำแนะนำผู้เดินทางไป-กลับจากต่างประเทศที่มีโรคนี้ระบาดเป้นต้น

ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งติดตามสถานการณ์ในภาพรวมทั่วประเทศทุกวัน หลังวิเคราะห์แล้วมีแนวโน้มการป่วยจะมีต่อเนื่องไปอีก 1 - 2 เดือน และแพร่กระจายในหลายจังหวัด เพราะยังอยู่ในช่วงฤดูฝน และเปิดเทอม จึงกำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ จัดระบบการเฝ้าระวัง ร่วมกับพื้นที่เสี่ยง

สำหรับสถานการณ์ของโรคมือเท้า ปาก ถูกระบุว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี และคาดว่าปีนี้จะมีผู้เป็นโรคดังกล่าวประมาณ 18,000 คน ขณะที่ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้กว่า 13,000 คน ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนอัตราการพบผู้ป่วยรายใหม่ในปลายเดือนมิถุนายน เฉลี่ยวันละ 80 - 100 คน เริ่มมีแนวโน้มชะลอในบางพื้นที่ แต่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในเขตเมืองใหญ่ โรคนี้พบได้ทุกอายุ แต่มากที่สุด คือ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ทั้งนี้พบในภาคกลางมากที่สุด รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง