TPP ภายใต้การนำของ "โอบาม่า" กับความพร้อมและประโยชน์ของไทย

เศรษฐกิจ
14 พ.ย. 55
13:17
181
Logo Thai PBS
TPP ภายใต้การนำของ "โอบาม่า" กับความพร้อมและประโยชน์ของไทย

แม้ไทยยังไม่ได้เข้าร่วมทีพีพี แต่รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ เคยแสดงความสนใจและมองหาโอกาสเข้าร่วมความตกลงดังกล่าว ล่าสุด คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ประกาศเจตนารมณ์การเข้าร่วม ในโอกาสการมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มนักวิชาการและภาคสังคม เกี่ยวกับความเหมาะสมและความพร้อมของไทย

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐฯตกอยู่ในภาวะวิกฤตหนี้สาธารณะ จนส่งผลให้บทบาทในเวทีโลกถูกบั่นทอนลง ขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นด้านการทหารและสงครามในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม การขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชีย ทำให้สหรัฐฯไม่อาจละเลย และแสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะกลับเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง

นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐเลือกเดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทันทีหลังได้รับชัยชนะเป็นสมัยที่ 2 โดยไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมาย และเน้นการหารือด้านเศรษฐกิจ

<"">
<"">

 

"จะต้องมีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการลงทุน เพิ่มมูลค่าการค้า การให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจจึงจะช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่สหรัฐฯเอง" นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศ กล่าว

การเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลไทยจะประกาศเจตนารมณ์ ซึ่งปัจจุบัน TPP มีสมาชิกที่อยู่ระหว่างการเจรจา 11 ประเทศ โดยเป็นสมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ ขณะที่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ก็แสดงท่าทีพร้อมที่จะเข้าร่วมในอนาคต

"มติ ครม. ออกมาแบบนี้ ผมเห็นว่ามันเป็นความกระทันหัน รักษาหน้า ไม่ได้ทำการบ้านกันอย่างจริงจัง" นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผอ.สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ

"ปัจจุบันสังคมไทยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ทีพีพีคืออะไร อยู่ดีๆเราจะมารับรองหรือเข้าร่วมทีพีพีนั้น ส่วนตัวมองว่ายังไม่ถึงเวลา และเรายังไม่มีความพร้อม" นางจิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าว

"ไทยยังไม่เคยมีการศึกษาอย่างละเอียด เราเคยแจ้งทางสหรัฐฯว่าเราเคยสนใจ แต่การเข้า ครม. แล้วอนุมัติก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นกระบวนการภายในประเทศเราเอง" นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศ กล่าว

TPP เป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง ภาคสังคมและนักวิชาการบางส่วนเห็นตรงกันว่า รัฐบาลควรดำเนินการอย่างโปร่งใสและศึกษาอย่างจริงจัง โดยใช้บทเรียนจากการเจรจาการค้าเสรีในอดีตของไทย

<"">
<"">

 

"เรื่องการที่เราจะเสียเปรียบ คนป่วยเข้าหายาไม่ได้ เข้าไม่ถึง ไหนจะมีเรื่องอื่นๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญหา สิทธิบัตร อะไรเกี่ยวกับผลผลิตทางสมอง นวัตกรรม หรือสิ่งใดที่มีค่าสูงๆ สหรัฐฯจะได้เปรียบ ซึ่งตรงนี้ เราต้องทำการบ้าน ยกตัวอย่างประเทศออสเตรเลีย เขามีการทำงานวิจัยข้อถกเถียงต่างๆประกอบกับกระบวนการนโยบาย บ้านเราเองกระบวนการนโยบายก็ต้องประกอบควบคู่ไปกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสังคมไปด้วย" นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผอ.สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ กล่าว

"ประเทศไทยที่ผ่านมาใช้การเมืองนำ ไม่ได้ใช้การศึกษานำ การเมืองนำก็คือกลุ่มผลประโยชน์ มีพลังผลักดันทางการเมืองสูง ก็จะไปกดดันรัฐบาล" นางจิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าว

<"">

<"">

 

มีการประเมินว่าความตกลง TPP อาจเป็นเครื่องมือของสหรัฐฯในการถ่วงดุลอำนาจกับจีน ดังนั้นไทยจำเป็นต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์กับจีนที่มีมายาวนาน ซึ่งปัจจุบันจีนถือเป็นประเทศที่มีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างมากในเวทีระหว่างประเทศ

ทีพีพี อาจเป็นโอกาสขยายการส่งออกของไทย แต่ก็ต้องยอมรับว่า ไทยยังไม่พร้อมในการปฏิบัติตามมาตรฐานของสหรัฐฯ ที่สูงกว่าระดับทั่วไป ดังนั้นไทยจึงต้องรอบคอบกับการกำหนดท่าที และคำนึงถึงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคอาเซียนด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง