ตรวจค้นเกาะรังนก จ.สตูล พบหลุมต้องสงสัย

อาชญากรรม
11 พ.ค. 58
08:21
361
Logo Thai PBS
ตรวจค้นเกาะรังนก จ.สตูล พบหลุมต้องสงสัย

วันนี้ ( 11 พ.ค.2558) ยังมีผลจากปฏิบัติการตรวจสอบขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญาในหลายจังหวัดภาคใต้ รวมถึงตรวจสอบความเชื่อมโยงของขบวนการนี้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐ หรือนักการเมืองในพื้นที่เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ทหารเรือบุกตรวจค้น เกาะสัมปทานรังนก ในจังหวัดสตูล ของอดีตนักการเมืองท้องถิ่น ที่ถูกเจ้าหน้าที่ระบุว่า เป็นหัวหน้าขบวนการค้าชาวโรฮิงญา พบหลุมต้องสงสัยและแคมป์ที่พักร้าง

ทหารเรือกว่า 30 นาย บุกตรวจค้นตามเกาะหลายแห่งในจังหวัดสตูล ที่เชื่อว่า เป็นแหล่งพักพิงและซุกซ่อนชาวโรฮิงญาปฏิบัติการณ์ครั้งนี้มีการตรวจค้นเกาะสัมปทานรังนก ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาของอดีตนักการเมืองท้องถิ่น ที่ถูกระบุว่า เป็นหัวหน้าขบวนการค้าชาวโรฮิงญา จำนวน 3 เกาะ ประกอบด้วย เกาะแรดใหญ่ เกาะปาหนัน และเกาะเลตง โดยเฉพาะเกาะแรดใหญ่ซึ่งไม่มีชาวบ้านอาศัย แต่กลับพบหลุมต้องสงสัย 9 หลุม คนเฝ้าอ้างว่า เป็นหลุมฝังศพบรรพบุรุษจึงจำเป็นต้องมีการพิสูจน์ ขณะเดียวกัน พบฝูงกวาง 20 ตัว ปะปนกับแพะและวัว ส่วนเกาะปาหนัน พบที่พักร้าง, ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและกล่องขนมปังกระจัดกระจาย คาดว่า ถูกทิ้งไว้นานแล้ว

ที่จังหวัดระนอง เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานประมงชายแดนทางทะเลไทย-พม่า ร่วมกับทหารหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานรักษาฝั่งกองทัพเรือภาคที่ 3 และตำรวจน้ำ ตรวจสอบพื้นที่ต้องสงสัยว่า เป็นแหล่งพักพิงของขบวนการค้ามนุษย์ บริเวณเกาะกำใหญ่ และเกาะญี่ปุ่น อำเภอเมือง แต่ไม่พบแต่อย่างใด

ด้านสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ออกแถลงการณ์ ขอบคุณรัฐบาลไทยที่จับกุมผู้ต้องสงสัยมีส่วนพัวพันการค้ามนุษย์ พร้อมเสนอข้อเรียกร้อง 6 ข้อ โดยเฉพาะขอให้รัฐบาลดำเนินการทางการทูตเพื่อกดดันรัฐบาลเมียนมาร์ ให้ดำเนินการแก้ปัญหาการกดขี่มุสลิมโรฮิงญาในเมียนม่าร์อย่างจริงจัง พร้อมขอให้รัฐบาลไทยคำนึงหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ในการดำเนินการทางกฎหมายต่อกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงยาและกลุ่มอื่นๆ ทั้งในแง่การจัดที่อยู่อาศัยอันเหมาะสม และอาหารที่ถูกต้องตามหลักศาสนา

เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.2558) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจ 14 นาย ไปปฏิบัติราชการ ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้ขาดจากตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมอบหมาย ส่วนใหญ่เป็นนายตำรวจในจังหวัดระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นทางขบวนการค้ามนุษย์ และอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล จุดหมายปลายทาง ในการลักลอบเคลื่อนย้ายขบวนการค้ามนุษย์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง