อ่านบทความ "เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์" : เอ็นจีโอไทยกับรัฐประหาร

Logo Thai PBS
อ่านบทความ "เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์" : เอ็นจีโอไทยกับรัฐประหาร
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรม วิจารณ์บทบาทและการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนไทยในช่วงก่อนและหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ซึ่งเขาวิเคราะห์สาเหตุที่เอ็นจีโอบางส่วนสนับสนุนรัฐประหาร และความเชื่อมโยงกับเป้าหมาย "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน"

บทความนี้เรียบเรียงจากการพูดของเขาในเวทีประชุมสมัชชาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ปี 2559 ในหัวข้อ "เหลียวหลัง แลหน้า ขบวนการองค์กรพัฒนาเอกชน" เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2559 ที่ จ.นนทบุรี

..........................

หลังรัฐประหารปี 2557 ผมแบกคำถามที่หนักอึ้งคำถามหนึ่งเอาไว้ว่า "ทำไมเอ็นจีโอ และขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนหรือในส่วนที่เกี่ยวข้องกัน เช่น องค์กรด้านสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน พวกจับตานโยบาย โครงการพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้าข้างรัฐและทุนที่ลดทอน ปิดกั้น คุกคาม สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ถึงอยู่ด้านตรงข้ามกับประชาธิปไตยด้วยการสนับสนุนรัฐประหาร?"

ในการคิดทบทวนเพื่อหาคำตอบต่อคำถามนี้ เรื่องหนึ่งที่ผมค้นพบก็คือว่า คำที่ว่า 'ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน' หรือวลีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เช่น 'ประชาชนต้องกำหนดอนาคตตนเอง' 'การพัฒนาต้องมาจากประชาชน' ช่างเข้ากันได้ดีเหลือเกินกับคำที่ว่า 'ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง' ที่คนอย่างพวกเราชอบพูดกันมากในการถกเถียงแลกเปลี่ยนและโต้แย้งกันถึงวิกฤติปัญหาประชาธิปไตย

แต่มันก็เป็นภาพสะท้อนกลับด้วยเช่นเดียวกัน

ด้านหนึ่งก็คือมันสะท้อนความเป็นจริงได้ดีมาก เพราะคงไม่มีประชาชนคนใดอยากเอาชีวิตตัวเองทั้งหมดไปผูกอยู่กับการเลือกตั้งหรอก ชีวิตการเมืองไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง เพราะถึงแม้ดูจะเป็นระบบการเมืองที่มีพัฒนาการไปในทางที่ดี คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ดีที่สุด แต่ก็ยังกดขี่ข่มเหงขูดรีดประชาชนไม่ต่างจากระบอบการเมืองอื่นอยู่ดี

อีกด้านหนึ่งก็คือ ถ้าบอกแบบนี้แล้วก็ต้องพยักหน้าเห็นด้วยไปพร้อมกับคำถามว่า "นั่นสิ เราจะทำยังไงให้ประชาชนที่เราทำงานด้วยเกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องรอ ไม่พึ่งพิงองคาพยพ องค์กร หรือสถาบันการเมืองที่สนใจแต่การเลือกตั้งเท่านั้น?" หรือ "จะทำยังไงถึงจะทำให้ประชาชนที่เราทำงานด้วยเป็นอิสระ ไม่ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งเท่านั้น?"

พอถามคำถามนี้แล้วก็จะเกิดคำถามต่อมาว่า "เราทำอะไรกันไปแล้วบ้างที่ทำให้เห็นรูปธรรมที่แท้จริง ว่าประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง?"

เมื่อสำรวจดูก็พบว่าเราทำอะไรไปตั้งมากมายเพื่อตอบคำถามนี้ แต่สุดท้ายกลับพบว่าบุคคลและองค์กรที่มีส่วนผลักดันขับเคลื่อนบ้านเมืองและสังคมเพื่อตอกย้ำว่า 'ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง' เป็นพวกที่สนับสนุนรัฐประหาร

อาจจะมีผู้แย้งว่าการสนับสนุนรัฐประหารไม่ได้หมายความว่าอยู่ขั้วตรงข้ามกับประชาธิปไตย หรือเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยอีกแง่มุมหนึ่งด้วยซ้ำ

ทุกวันนี้ ความหมายของคำว่า 'ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง' ที่เคยมีความหมายหรือบริบทกว้างขวาง สะท้อนถึงความก้าวหน้าของขบวนประชาชนในทุกๆ ด้าน ถูกทำให้หดแคบลงเพียงแค่ว่า รัฐประหารคือความหมายและคุณค่าที่แท้จริงของ 'ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง' หรือพูดอีกด้านหนึ่งก็คือ รัฐประหารคือคุณค่าที่แท้จริงของความเชื่อความเข้าใจของคนทำงานที่พยายามทำงานเพื่อ 'ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน' หมายถึงว่าต้องสนับสนุนรัฐประหารจึงจะไปถึงความหมายที่แท้จริงของ 'ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง' หรือไปให้ถึงการ 'ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน' เพราะงานที่ทำกันในช่วงที่ผ่านมาเห็นผลช้า หรือพูดให้แย่กว่านั้นคือไม่เห็นผลอะไรเลย ก็เลยต้องวิ่งเข้าหาตัวเร่งปฏิกิริยา คือ 'รัฐประหาร' อย่างที่มีการพูดกันว่า 'รัฐประหารคือหน้าต่างแห่งโอกาส'

แต่ผมเห็นตรงข้าม ไม่ศรัทธาแนวทางที่วิ่งเข้าหาตัวเร่งปฏิกิริยา คือ รัฐประหาร

จริงๆ แล้ว เราทำอะไรกันตั้งมากมาย โดยเฉพาะการทำให้ขบวนประชาชนที่เราทำงานด้วยเข้าใจและพัฒนาคุณค่าและความหมายของคำว่าประชาธิปไตยมาโดยตลอด นั่นคือ

หนึ่ง-ประชาธิปไตยในสภา หรือประชาธิปไตยที่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือประชาธิปไตยตัวแทน

สอง-ประชาธิปไตยนอกสภา หรือประชาธิปไตยมวลชน หรือประชาธิปไตยทางตรง ที่มันจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างกันมาโดยตลอด

ในด้านเศรษฐกิจเราก็ต่อสู้กับเศรษฐกิจกระแสหลักที่สนใจแต่จีดีพี ด้วยการเสนอเศรษฐกิจสองระบบที่มีอีกด้านหนึ่งที่พึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งการพัฒนาสิทธิชุมชนให้กลายเป็นสิทธิสากลเท่าเทียมกับสิทธิมนุษยชน แต่ปัญหาคือพัฒนาการของเรามันสะดุดหยุดลง ซึ่งผมกำลังค่อย ๆ แกะว่าเหตุใดพัฒนาการเรื่องประชาธิปไตยในขบวนประชาชนที่กำลังก้าวหน้าถึงสะดุดหยุดลง

เท่าที่คิดได้ในตอนนี้ก็คือ จริงๆ แล้วเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากด้วยซ้ำที่พลัง 'ประชาธิปไตยมวลชน' มีศักยภาพมากที่จะควบคุมหรือสร้างสมดุลกับ 'ประชาธิปไตยเลือกตั้ง' เราพบเห็นรูปธรรมเหล่านี้ได้เยอะแยะเต็มไปหมดในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ที่ตรวจสอบถ่วงดุลการเมืองท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง

ชาวบ้านเขาจับตาสอดส่องและถ่วงดุลอำนาจโดยเข้าไปใช้ 'ประชาธิปไตยเลือกตั้ง' ด้วยตนเอง รวมทั้งสร้าง 'ประชาธิปไตยมวลชน' ให้เข้มแข็งเพื่อคานอำนาจ 'ประชาธิปไตยเลือกตั้ง' ให้ได้

สิ่งที่ชาวบ้านทำนั้นมีคุณค่าและทรงพลังมากๆ เพราะเขาพยายามอยู่ตลอดเวลาที่แปรพลังจากสองมือสองเท้าของเขาให้เป็นเสียงที่มีคุณค่าให้ได้

เพราะฉะนั้น หลักการหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงจึงสำคัญมากตรงนี้ เพราะมันเป็นเสียงที่ออกมาจาก 'ประชาธิปไตยมวลชน' ที่อยู่นอกสภา เพื่อให้ไปทำหน้าที่พัฒนาประชาธิปไตยอีกฝั่งหนึ่งที่อยู่ในสภา นี่คือสันติวิธี และมีวิธีนี้วิธีเดียวเท่านั้นที่จะขับเคลื่อนสังคมด้วยสันติวิธีที่สุด นอกนั้นมีแต่เสียเลือดเนื้อ

ผมยังเชื่อว่านักกิจกรรมทางสังคม ปัญญาชนสาธารณะที่ทำงานเพื่อมุ่งสู่การ 'ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน' มีความคิดก้าวหน้า แต่ยอมถอยความคิดและจุดยืนของตัวเองสนับสนุนรัฐประหารก็เพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่าง

ผมยังเชื่อว่านักกิจกรรมทางสังคม ปัญญาชนสาธารณะที่ทำงานเพื่อมุ่งสู่การ 'ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน' มีความคิดก้าวหน้า แต่ยอมถอยความคิดและจุดยืนของตัวเองสนับสนุนรัฐประหารก็เพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่าง แต่ผลลัพธ์มันรุนแรงมาก เพราะรัฐประหารได้ทำลายคุณค่าและความหมายประชาธิปไตยเสียหมดสิ้น สิ่งที่เราได้กลับมาคือความตกต่ำสุดขีดของขบวนประชาชนที่ก่อร่างศรัทธาในเรื่องของการ ‘ลดอำนาจ เพิ่มอำนาจประชาชน’ เราทำลายประชาธิปไตยมวลชนที่เคยเป็นพลังคานอำนาจประชาธิปไตยเลือกตั้งเสียจนย่อยยับ

สิ่งที่เป็นข้อพิสูจน์ของความตกต่ำนี้ก็คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้รัฐบาลทหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แค่กฎหมายฉบับนี้ฉบับเดียว ไม่ต้องรวมเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ แผนแม่บทป่าไม้ ฯลฯ ก็แย่พอแล้ว ถ้าชาวบ้านชุมนุมไม่ได้ก็ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ได้เลย หรือชุมนุมได้แต่ก็ไม่สามารถกดดันใดๆ ได้เลย แทบทุกกิจกรรม ทุกการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวของประชาชนสามารถถูกตีความว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายการชุมนุมสาธารณะได้หมด

อาจจะมีผู้โต้แย้งว่ารัฐบาลประชาธิปไตยก็ชอบกฎหมายพวกนี้นะ ใช่! แต่ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยจะมีภาวะที่ผ่อนปรนหรือต่อรองได้มากกว่านี้
สุดท้ายนี้ผมขอสรุปดังนี้

1) ผมคิดว่าถ้อยคำ การกระทำและความคิดที่ว่า 'ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง' จะมีความหมายและคุณค่าก็ต่อเมื่อในขณะที่บ้านเมืองมีประชาธิปไตยที่ได้มาจากการเลือกตั้ง เราถึงจะมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำงานกับประชาชนเพื่อส่งเสริมคุณค่าและความหมายของวาทกรรมดังกล่าว เพื่อผลักดันให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง เป็นองค์กรหรือขบวนการที่สูงส่งและมีพลังมากเสียยิ่งกว่าองค์กรการเมืองที่เฝ้ารอแต่การเลือกตั้งเพื่อได้อำนาจรัฐมา

2) สิ่งที่ขาดหายไปในการทำงานของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และเครือข่ายตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ก็คือความคิดทางการเมือง ซึ่งหมายถึงว่า 'การทำงานพัฒนาต้องพัฒนาไปพร้อมกับความคิดทางการเมือง' จึงทำให้การคิดวิเคราะห์สังคมเป็นแบบ 'หวังน้ำบ่อหน้า' หรือเหมือนเห็นขอนไม้ลอยกลางทะเล เห็นอะไรก็คว้าหมดเพื่อเอาชีวิตรอด

3) หลายคนในงานประชุมสมัชชา กป.อพช.พูดถึงโครงการประชารัฐกันเยอะ ก็อยากจะบอกว่า เป้าหมายที่แท้จริงของประชารัฐคือการทำให้ประชาชนสนับสนุนและค้ำจุนรัฐประหารเท่านั้น นอกเหนือจากนี้เป็นเรื่องหลอกลวง

4) เส้นทางของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยนั้นเต็มไปด้วยขวากหนาม กว่าที่พลเมืองแต่ละกลุ่ม เพศ วัย เชื้อชาติ ฯลฯ จะมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ต้องสูญเสียเลือดเนื้อมากมาย แต่ที่เมืองไทย ฝ่ายก้าวหน้าที่เสียสละอุทิศตนเพื่อสังคม ทำงานพัฒนาชนบทและชุมชนเพื่อต่อสู้กับความเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ข่มเหงคนยากคนจนคนเล็กคนน้อยในสังคม เพื่อนำเสียงของคนเหล่านั้นขึ้นมาให้สังคมข้างนอกได้ยิน ซึ่งเป็นขบวนการที่ประดิษฐ์หรือชูคำขวัญที่ว่า 'ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน' กลับเข้ากันได้ดีหรือเป็นพวกเดียวกันกับพวกที่ออกมาพูดว่า ‘ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง’ ด้วยการสนับสนุนรัฐประหาร

เรายอมแม้กระทั่งสูญเสียเลือดเนื้อประชาชนเป็นร้อยคนเพื่อย้อนเวลากลับสู่อดีตอันไกลโพ้นด้วยคำถามพื้นฐานเมื่อหลายพันปีมาแล้วว่า "การออกเสียงมีความสำคัญต่อคุณยังไง ?”

ตรงนี้แหละที่น่าเป็นห่วง เพราะประวัติศาสตร์จะบันทึกไว้ว่าเรากลายเป็นตัวตลกในยุคสมัยของเรา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง