กรมขนส่งฯ เร่งปฏิรูปสอบใบขับขี่ "ออกยาก ยึดง่าย " หวังทัดเทียมต่างประเทศ

สังคม
30 ส.ค. 59
11:02
540
Logo Thai PBS
กรมขนส่งฯ เร่งปฏิรูปสอบใบขับขี่ "ออกยาก ยึดง่าย " หวังทัดเทียมต่างประเทศ
อีก 2 ปีกรมการขนส่งทางบกจะปฎิรูปการสอบใบขับขี่ให้ยากขึ้นทั้งระบบ เพื่อหวังยกระดับความปลอดภัยของผู้ขับขี่ แต่หากเทียบกับประเทศญี่ปุ่น นักวิชาการด้านวิศวกรรมจราจรเห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายและการสอบภาคปฎิบัติของไทยยังไม่คร่งครัดมากพอที่จะเทียบกับต่างประเทศ

วันนี้ (30 ส.ค.2559) ทางม้าลายที่มีทุกแห่งตามจุดตัดทางแยกและมีอักษรสีขาวบนพื้นถนน เขียนว่า "จงหยุด" อย่างชัดเจน ทำให้คนญี่ปุ่นแทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังยานพาหนะใดๆมากนัก หากเปรียบเทียบความปลอดภัยทางถนนไทยกับญี่ปุ่น 

นายศาสตราวุฒิ พลบูรณ์ นักวิชาการด้านวิศวกรรมจาราจร ม.เทคโนโลยีสุรนารี ระบุว่าถนนญี่ปุ่นปลอดภัยมากกว่าไทยถึง 7 เท่า แค่นั่งไปกับคนเมาแล้วขับก็ติดคุกถึง 3 ปี

“ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่เคร่งครัดเรื่องเมาแล้วขับมาก หากพบคนเมาแล้วขับ แม้จะยังไม่เกิดอุบัติเหตุ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน (3.6 แสนบาท) และถ้าเพื่อนเมา แล้วยืมรถของเราไปขับ เจ้าของรถมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน (3.6 แสนบาท) ส่วนผู้โดยสารที่นั่งไปกับคนเมา โดยที่รู้ว่าคนขับเมา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (180,000 บาท)”

ขณะที่นานาชาติยกย่องให้ญี่ปุ่นมีความปลอดภัยทางถนนมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่ไทยกลับมีผู้เสียชีวิตสูงสุดในเอเชียและยังติดอันดับ 2 ของโลก ทำให้กรมการขนส่งทางบกเร่งปฎิรูปทำใบขับขี่ใหม่ทั้งระบบให้ยากขึ้นภายใน 2 ปีนี้

นายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่าระบบเซนเซอร์อัตโนมัตินับเป็นหนึ่งเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้สอบปฎิบัติ ตามนโยบาย " ออกยาก ยึดง่าย " ปฎิรูปการทำใบขับขี่ให้ยากขึ้นทั้งระบบ ในปี 2560 กรมการขนส่งทางบกจะเพิ่มเวลาอบรมจาก 4 ชั่วโมง เป็น 5 ชั่วโมง เพิ่มข้อสอบอัตนัยจาก 50 ข้อ เป็น 60 ข้อ และภายในปี 2561 จะจัดตั้งให้โรงเรียนสอนขับรถเอกชน ทำหน้าที่สอบภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติแทนสำนักงานขนส่ง เพิ่มเวลาสอบมากกว่าเดิม 3 เท่าตัว หรือ 15 ชั่วโมง

“ ตั้งแต่ ปี 2561 กรมขนส่งทางบกจะปรับแผนการสอบใบขับขี่ทั้งระบบ โดยเราจะผลักดันส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาจัดตั้งโรงเรียน สอน อบรม และทดสอบการขับขี่ เมื่อสอบผ่านแล้ว โรงเรียนเอกชนจึงออกหนังสือรับรองมาให้กรมการขนส่งทางบกออกใบอนุญาตขับขี่ให้ต่อไป ซึ่งในปี 2561 คงจะเห็นโรงเรียนสอนขับรถมากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 80 แห่ง” นายณันทพงศ์ กล่าว

แม้จะเป็นการปฎิรูปการทำใบขับขี่ครั้งใหญ่ของไทย แต่หากเทียบกับญี่ปุ่น นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจรเห็นว่า การสอบภาคปฎิบัติของไทยยังไม่เคร่งครัดมากพอ

“อย่างเพื่อนของผมเป็นคนสิงค์โปร ได้ใบขับขี่ของสิงค์โปร ซึ่งเป็นการขับรถที่ปลอดภัย แต่เมื่อไปที่ญี่ปุ่น ต้องสอบใบขับขี่ใหม่และสอบภาคปฏิบัติถึง 6 ครั้ง ถึงจะได้ใบขับขี่ญี่ปุ่น การสอบภาคปฏิบัติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการสอบที่ประเทศญี่ปุ่น” ศาสตราวุฒิ กล่าว

ปัจจุบันใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลตลอดชีพมี 6 ล้านฉบับ รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 5 ล้านฉบับ จากใบขับขี่ทั้งหมด 30 ล้านฉบับ ในขณะที่จำนวนรถยังมีมากกว่า 38 ล้านคัน และคนไทยยังต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยชั่วโมงละ 1-2 คน โดยปีนี้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 6,000 กว่าคน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง