กกต.เตรียมประกาศระเบียบ-คำสั่งกฎหมายพรรคการเมืองเดือนนี้

การเมือง
22 พ.ย. 60
15:33
565
Logo Thai PBS
กกต.เตรียมประกาศระเบียบ-คำสั่งกฎหมายพรรคการเมืองเดือนนี้
กกต.เตรียมประกาศระเบียบและคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายพรรคการเมืองภายในสิ้นเดือน พ.ย.นี้ เพื่อให้พรรคการเมืองตรวจสอบฐานข้อมูลสมาชิกพรรค หากไม่แล้วเสร็จตามกรอบวันที่ 5 ม.ค.2561 สามารถยื่นขอขยายเวลาต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้

วันนี้ (22 พ.ย.2560) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการเมื่อวานนี้ว่า มีการหารือประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และมีการตรวจสอบถ้อยคำในกฎหมาย เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ซึ่งจะใช้เวลา 2-3 วันเพื่อส่งให้กับราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะสามารถประกาศได้สิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนตัวประกาศและระเบียบในกฎหมาย กกต.จะให้สอดคล้องกับกฎหมายพรรคการเมือง

โดยหลังจากนี้ ในเดือนธันวาคม พรรคการเมืองต้องเร่งดำเนินการในส่วนของสมาชิกพรรค หากพรรคการเมืองมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลอย่างเป็นทางการมาที่ กกต.ได้ โดยจัดทำเป็นเอกสารซึ่ง กกต.ได้เตรียมตั้งคณะกรรมการนโยบาย จำนวน 5-6 ชุด เพื่อตอบข้อซักถามเป็นลายลักษณ์อักษรให้พรรคการเมืองภายใน 30 วัน

สำหรับวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ กกต.จะหารือกับสำนักทะเบียนราษฎร์ เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เมื่อมีความชัดเจนทาง กกต.จะเร่งประชุมร่วมกับพรรคการเมือง ขณะที่พรรคการเมืองต้องมีการหารือเป็นการภายในเพื่อเตรียมความพร้อม และเตรียมวางกรอบการเชิญพรรคการเมืองมาทำความเข้าใจในระเบียบให้ชัดเจน เนื่องจากเหลือเวลาเพียง 44 วันเท่านั้นในกรอบ 90 วัน

นายสมชัย ยังกล่าวอีกว่า หากพรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการได้ทัน สามารถขอต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ เพื่อขยายเวลา หากพรรคใดไม่มีการทำหนังสือขอขยายเวลาและดำเนินการได้ทัน จะสิ้นสภาพไปโดยปริยาย ส่วนพรรคการเมืองจะขอขยายเวลาเท่าใดขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองเป็นผู้พิจารณากรอบที่เหมาะสมเอง ซึ่งหลังประกาศคำสั่งและระเบียบแล้ว พรรคการเมืองสามารถตรวจสอบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคและคุณสมบัติได้ พร้อมส่งมายังนายทะเบียนพรรคภายในวันที่ 5 มกราคม หรือในกรอบ 90 วัน ซึ่งหากไม่สามารถส่งทันตามกรอบเวลา พรรคการเมืองสามารถส่งหนังสือ ขอขยายเวลาต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้

ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งใหม่นั้น ตามระเบียบจะต้องไม่ซ้ำกับชื่อเดิมในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา และไม่ใช้ชื่อซ้ำกับพรรคที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งไม่เชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยยอมรับว่าชื่อพรรคการเมืองที่มีความคล้ายคลึงกับพรรคการเมืองในอดีต จะทำให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบทางการเมือง ดังนั้น จึงถือว่าใครมาขอจดทะเบียนก่อนจะมีสิทธิ์ใช้ชื่อนั้นก่อน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง