นักกฎหมายชี้ "แชร์ลูกโซ่" แค่โครงกระดูกที่เปลี่ยนโคเวอร์ใหม่

สังคม
18 มิ.ย. 61
12:07
3,078
Logo Thai PBS
นักกฎหมายชี้ "แชร์ลูกโซ่" แค่โครงกระดูกที่เปลี่ยนโคเวอร์ใหม่
ที่ปรึกษากฎหมาย เผยแชร์ลูกโซ่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ และผลิตภัณฑ์ไปเรื่อยๆ คล้ายโครงกระดูกเดิมที่เปลี่ยนโคเวอร์ใหม่ไปตามนวัตกรรมใหม่ แนะหลีกเลี่ยงด้วยการไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงผิดปกติ และอย่าโลภ

กรณีปัญหาแชร์ลูกโซ่ที่พบมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น นายก้องภพ ศุภกิตติ์ ที่ปรึกษากฎหมาย เปิดเผยว่า แชร์ลูกโซ่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและผลิตภัณฑ์ไปเรื่อยๆ แต่หลักการคือหลอกเอาเงิน โดยในช่วงแรกจะคืนเงินให้ในอัตราที่สูงผิดปกติ ซึ่งครั้งแรกและครั้งที่ 2 อาจจะได้คืน แต่หลังจากนั้นอาจจะไม่ได้เงินคืนแล้ว และเงินที่ได้มาจริงๆ คือเงินของเรานั่นเอง ไม่มีอะไรที่จะมีผลตอบแทนสูงมากๆ ผิดปกติ ถ้าเป็นอย่างนั้นผิดปกติและต้องระวังแล้ว ถ้าไปลงทุนอะไรแล้วผลตอบแทนผิดปกติ

ทั้งนี้ แชร์ลูกโซ่ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว คือแชร์แม่ชม้อย ซึ่งเป็นการหลอกให้ลงทุนในรถบรรทุกน้ำมัน จากนั้นเป็นแชร์ลูกโซ่ที่อ้างอิงธุรกิจขายตรง แต่มีการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ไปเรื่อยๆ อย่างเช่นปุ๋ย ที่ไม่ได้เน้นยอดขาย เน้นสร้างเครือข่ายและลูกทีม ต่อมามีการล่อหลอกทางสื่อสังคมออนไลน์ มีการล่อหลอกคือการรีวิว แต่ยังไม่สามารถระบุว่าผิดกฎหมายชัดเจน แต่สิ่งเดียวที่อยากบอกคือไม่มีสิ่งไหนที่ได้มาง่ายๆ หรือได้กำไรมากภายในเวลาอันรวดเร็ว

ขณะที่ในปัจจุบัน แม้กระทั่งในช่วงการลงทุนบูมๆ ก็ยังมีการตั้งกองทุนขึ้นมาหลอกลวงประชาชนทั่วไป หรือการที่อดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ชักชวนกลุ่มอาจารย์และพนักงานให้นำเงินไปลงทุนในแชร์ลอตเตอรี่ ดังนั้น แชร์ลูกโซ่จึงเปรียบเสมือนโครงกระดูกเดิม แต่เปลี่ยนโคเวอร์ใหม่ไปเรื่อยๆ ตามนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคตอาจจะมีอะไรที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้อีก สำหรับผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่จะมีฐานะค่อนข้างลำบาก หรือคนที่กำลังทำมาหากินแล้วอยากมีรายได้เพิ่มขึ้น บางคนไปกู้หนี้ยืมสินมาด้วยซ้ำ เพราะหวังจะได้ผลตอบแทนที่ดี


นายก้องภพ กล่าวว่า ผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่จะไปร้องเรียนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กับกองบังคับการปราบปราม ถ้าเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต้องไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรม การคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก่อน แต่ยังขึ้นอยู่กับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทไหน และผลิตภัณฑ์ที่ทำมีกฎหมายไหนควบคุมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าแชร์ลูกโซ่ชนิดนั้นมีผู้เสียหายจำนวนมากและมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะไปร้องเรียนที่ดีเอสไอ เพื่อขอให้รับเป็นคดีพิเศษ

ส่วนข้อแนะนำคือการลงทุนอะไรที่มีผลตอบแทนสูงผิดปกติ ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะมีแนวโน้มสูงที่จะออกมาในลักษณะของแชร์ลูกโซ่ ซึ่งการจะซื้อขาย หรือเข้าเป็นสมาชิกอะไรก็ตามให้เน้นไปที่ตัวผลิตภัณฑ์และการใช้เป็นหลัก ไม่ใช่ยอดขาย ที่สำคัญคืออย่าโลภ


สำหรับแชร์ถูกโซ่ ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะเข้าข่ายการฉ้อโกง และหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานฉ้อโกง และพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 โดยมีโทษจำคุกกระทงละ 3-5 ปี และโทษปรับวันละ 10,000 บาท และอาจยังเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

เปิดใจผู้เสียหายสูญ 6 ล้านถูกหลอกลงทุน "ฟอเร็กซ์" ปั้นมืออาชีพบริหารเงิน-เทรดให้ 

อ้างจะรวยเป็นเศรษฐี-ปลดหนี้สิน เกษตรกรถูกลวงเล่นแชร์ "ปลูกมัลเบอร์รี่" 

4 ปีแชร์ลูกโซ่หลอก 80,000 คน -ฌาปนกิจสงเคราะห์แชมป์ถูกร้อง 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง