ย้อนวันวานการ์ตูนเล่มละบาท

Logo Thai PBS
 ย้อนวันวานการ์ตูนเล่มละบาท
แม้ทุกวันนี้การ์ตูนเล่มละบาทจะไม่มีให้เห็น แต่กระแสความคิดถึงจากนักอ่านและนักเขียนกลับไม่ได้หายไป วันนี้พาไปเปิดบ้านอดีตนักวาดการ์ตูนฉายา "เหยี่ยว เบี้ยวสกุล" ที่กลับมาวาดการ์ตูนอีกครั้งในรอบ 30 ปี ย้อนความหลังครั้งการ์ตูนเก่าแบบไทยๆ ยังครองใจนักอ่าน

เล่าย้อนกี่ครั้งก็ยังดีใจ เมื่อภาพวาดนิทานชาดกบนกำแพงวัดที่เคยโพสต์ไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ยังมีแฟนการ์ตูนรุ่นเก่าจดจำลายเส้นได้ จนสืบรู้ว่า "สุรพล ล่อใจ" กลับมาวาดการ์ตูนอีกครั้ง เห็นเส้นสายละเอียดแบบนี้ แทบไม่รู้ว่าเจ้าของนามแฝง "เหยี่ยว เบี้ยวสกุล" อดีตนักวาดการ์ตูนเล่มละบาทชื่อดัง ไม่ได้จับพู่กันนานถึง 30 ปีแล้ว และเพิ่งกลับมาวาดการ์ตูนจริงจังได้ไม่ถึง 4 เดือน

 

 

ผลงานการ์ตูนเก่าเกือบ 40 ปีก่อนยังรักษาไว้อย่างดี แม้สึกหรอตามกาลเวลา แต่เต็มไปด้วยคุณค่าทางใจ เพราะมีแฟนนักอ่านในเฟซบุ๊กมอบให้ถึงมือ การกลับมาในวัย 63 ปี นักเขียนการ์ตูนรุ่นใหญ่ไม่พึ่งสำนักพิมพ์ แต่ใช้เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ปล่อยของ โดยพยายามวาดการ์ตูนให้ได้ทุกวัน มีแนวถนัดคือการ์ตูนผจญภัยแอ็คชั่น นอกจากคลายเหงาหลังเกษียณ ยังได้ฝึกสมาธิ บำบัดอาการป่วยจากอาการเลือดเลี้ยงสมองไม่ทัน และยังดีต่อใจ เพราะการวาดการ์ตูนคือสิ่งที่รักที่สุด

จากที่เคยเขียนการ์ตูนสัปดาห์ละ 3 เล่ม และวิ่งส่งงานให้โรงพิมพ์กว่า 10 แห่ง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน อาชีพที่รักกลับไม่พอเลี้ยงตัว เนื่องจากการ์ตูนเล่มละบาทโดนการ์ตูนญี่ปุ่นตีตลาด อีกทั้งนายทุนมองว่าการตีพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่นคุ้มกว่า เพราะมีค่าใช้จ่ายเพียงค่าแปลภาษาและค่าเขียนคำบรรยาย ขณะที่การ์ตูนของนักเขียนไทยต้องจ่ายค่าแรงตามจำนวนหน้า

 

 

การกลับมาเขียนการ์ตูนในวันที่เพื่อนร่วมวงการทยอยหายไป และการ์ตูนเล่มละบาทถูกแทนที่ด้วยสื่อบันเทิงรูปแบบอื่น นักเขียนการ์ตูนรุ่นใหญ่ใช้ฝีมือเข้าสู้ ไม่เหมือนครั้งยังหนุ่มที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ หวังให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของการ์ตูนเล่มละบาท ที่เป็นมากกว่าสื่อบันเทิงราคาถูก

นอกจากวาดการ์ตูนลงเฟซบุ๊ก ตอนนี้ยังมีงานอื่นๆ ติดต่อเข้ามา เช่น การ์ตูนแนวพระพุทธศาสนา รวมถึงโปรเจคต์หนังสือรวมผลงานนักเขียนการ์ตูนเล่มละบาทรุ่นเก่า เพื่อให้นักอ่านเก็บเป็นที่ระลึก ทั้งหมดทำด้วยหัวใจล้วนๆ เพราะจะให้การ์ตูนเล่มละบาทกลับมาเฟื่องฟูเหมือนเดิมคงไม่ได้ อย่างน้อยจึงขอใช้เรี่ยวแรงและความคิดสร้างสรรค์ที่มี แทนความรักต่อการ์ตูนไทยในอดีต

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง