"หมอล็อต" รับมอบลูกหมีควายกำพร้า 7 เดือนปรับตัวก่อนปล่อยป่า

สิ่งแวดล้อม
29 ม.ค. 62
17:16
506
Logo Thai PBS
"หมอล็อต" รับมอบลูกหมีควายกำพร้า 7 เดือนปรับตัวก่อนปล่อยป่า
"หมอล็อต" เป็นตัวแทนกรมอุทยานฯ และมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด รับมอบ “หมีเจ๋ง” ลูกหมีควายอายุ 7 เดือนที่ชาวบ้านดูแลไว้คาดว่าพ่อแม่ตายไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุงก่อนปรับพฤติกรรมคืนสู่ป่า พร้อมทำความเข้าใจชาวบ้าน ลดความขัดแย้งคนกับสัตว์ป่า

วันนี้ (29 ม.ค.2562) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ส่งชุดมวลชนสัมพันธ์ นำโดยนายสุเมธ สายทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดจันทบุรี และนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดให้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากสัตว์ป่า ตามกลยุทธ์การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ป่า พร้อมรับมอบลูกหมีควาย “หมีเจ๋ง” หมีควายกำพร้าจากชาวบ้านที่ได้ดูแลช่วยเหลือจนแข็งแรง ที่บริเวณ อบต.ตรอกหนอง จ.จันทบุรี

โดยลูกหมีควายชื่อ “เจ้าเจ๋ง” อายุประมาณ 7 เดือนที่ชาวบ้านเจอตัวบริเวณสวนมังคุด คาดว่าแม่ตายแล้ว จากนั้นจึงประสานงานมายังชุดมวลชนสัมพันธ์ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เข้ามาตรวจสอบและให้คำแนะนำให้เป็นไปตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

 

 

ทั้งนี้ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง และอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เพื่อเข้ามาดำเนินการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี และรับมอบเพื่อนำไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง จ.ชลบุรี และปรับพฤติกรรมก่อนนำกลับไปคืนสู่ป่าต่อไป 

นอกจากการรับมอบคืนลูกหมีควายแล้ว กรมอุทยานฯ พร้อมด้วยชุดมวลชนสัมพันธ์ที่ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช จัดตั้งขึ้นมาเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าเชิงรุก ร่วมกับมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากสัตว์ป่าเชิงบูรณาการ ตามกลยุทธิ์การอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ป่า ที่รับนโยบายมาจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ ที่ระบุสาเหตุการออกนอกพื้นที่ของสัตว์ป่า เช่น ช้างป่า กระทิง หมี

 

 

ซึ่งมีหลากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นถิ่นอาศัยที่เปลี่ยนแปลง แหล่งน้ำแหล่งอาหารลดลง การเพิ่มขึ้นของประชากร การติดใจรสชาติของผลไม้ และการถูกรบกวนจากรถยนต์บนถนนทางหลวงเส้น 3259 โดยเฉพาะช้าง เป็นสัตว์ที่มีประสาทสัมผัสของแรงสั่นสะเทือน และหูที่ดีเยี่ยม เมื่อรถขนส่งพืชผลทางการเกษตรผ่านเข้ามา ทำให้ช้างป่าออกนอกเส้นทาง คาดว่า หากถนนทางอ้อมป่าสร้างเสร็จ จะเป็นการลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

รวมไปถึงกลิ่นหอมของพืชผลทางการเกษตรก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ช้างหรือสัตว์ป่าออกมาหากินนอกพืชที่ แนวทางแก้ไขปัญหาตามกลยุทธิ์การอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นการลงแขกเกี่ยวข้าวก่อนช้าง หรือเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงก่อนหรือช่วงที่ช้างป่าลงมาในพื้นที่เกษตรกรรม เช่นมังคุด ทุเรียน ลำไย ซึ่งเป็นผลิตผลที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของชาวบ้านในพื้นที่โดยมีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครต่างช่วยกันเก็บเกี่ยว เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดขึ้น

การลงพื้นที่ของชุดมวลชนสัมพันธ์ของกรมอุทยานฯร่วมกับมูลนิธิ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชาวบ้านเป็นไปอย่างเป็นกันเอง ชาวบ้านเข้าใจถึงสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง