หยุดแบ่งขั้ว! ฟังเสียงประชาชนก่อนจัดตั้งรัฐบาล

การเมือง
26 เม.ย. 62
14:16
1,328
Logo Thai PBS
หยุดแบ่งขั้ว! ฟังเสียงประชาชนก่อนจัดตั้งรัฐบาล
นักวิชาการด้านกฎหมาย-พีเน็ต เรียกร้องพรรคการเมืองเลิกแบ่งขั้ว เร่งเดินหน้าตั้งรัฐบาล นำประชาธิปไตยกลับประเทศ หลังพบสถานการณ์เริ่มมีแนวโน้มตัวเร่งสังคมเกิดความขัดแย้ง

วันนี้ (26 เม.ย.62) ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งไทยพีบีเอส ร่วมกับ 9 ภาคีเครือข่าย เสวนา “หยุดแบ่งขั้ว! ฟังเสียงประชาชนก่อนจัดตั้งรัฐบาล” เรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองหยุดแบ่งขั้วและหันมาฟังความต้องการของประชาชนก่อนการจัดตั้งรัฐบาล

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่ต้องมีการประดิษฐ์วาทกรรมขึ้นมา เพื่อช่วงชิงการนำทางความคิด แต่สิ่งที่ต้องระวังคือความเกลียดชัง หรือลืมไปว่าประเทศไทย ต้องกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย และต้องมีสภาผู้แทนราษฎร ใครจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลว่ากันไปตามกติกา เพียงแต่ความยุ่งยากอยู่ที่สูตรคำนวณของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเสนอให้ใช้วิธีการคำนวณในแบบฟังความให้มากและยุติอย่างมีหลักวิชาการที่สังคมยอมรับได้

ปล่อยให้เป็นเรื่องของวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ แต่ใครเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ต้องช่วยกันนำประเทศกลับสู่การมีสภาฯ อีกครั้งหนึ่ง เป็นเรื่องใหญ่กว่าการที่ใครจะเป็นรัฐบาล

ในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าจะให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง เบื้องต้นต้องมีสภาฯ ภายใต้ความเห็นต่าง และความขัดแย้ง จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้หากว่ากันด้วยกติกา ใช้ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความเกลียดชัง

ผศ.ปริญญา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นครั้งแรกที่ให้มีเวลาถึง 30 วัน ในการประกาศผลการเลือกตั้งโดยมุ่งให้อำนาจกับ กกต.ในการตรวจสอบในการให้ใบเหลือง ใบแดง ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้เวลาเพิ่มเป็นอีก 60 วัน ทำให้เกิดปัญหา คือ แทนที่การเลือกตั้งแล้วเสร็จจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล พอทอดเวลาไปนานสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นก็เกิด จึงจำเป็นต้องทบทวนและมีการเปลี่ยนแปลง 

ปกติแล้วเลือกตั้งเสร็จต้องรู้ผลการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่พอเลื่อนเวลาไปนานสิ่งที่ไม่ควรจะเกิด มีช่วงเวลาการโจมตีกัน หากประกาศผลมันจะนำไปสู่การเดินหน้า

เทียบกับอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย ที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่าประเทศไทยหลายเท่า เลือกตั้งเสร็จก็รู้ผลเลือกตั้งเลย อินเดียก็เช่นเดียวกัน ขณะที่ประเทศไทย กกต. มาผิดทาง ระบบเลือกตั้งมีปัญหามาก แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะมีการเลือกตั้งที่มี ส.ส. แบบแบ่งเขต กับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อมาแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา ทุกครั้งแม้จะไม่ประกาศผลอย่างเป็นทางการจะรู้แล้วว่า ส.ส. แบ่งเขตเท่าไร บัญชีรายชื่อเท่าไร การคำนวณก็ไม่ได้มีความยุ่งยาก

ครั้งนี้ กกต.ไปใช้การเลือกตั้งแบบใบเดียว คะแนนเดียว เป็นระบบที่มีปัญหา ยังทำให้เกิดการตีความที่ทำให้เกิดเป็นสูตรเลือกตั้งมากกว่า 1 สูตร เพราะแต่ละสูตรทำให้มีหน้าตารัฐบาลเปลี่ยนไป

ผศ.ปริญญา กล่าวว่า หากมีข่าวเกี่ยวกับงูเห่าออกมาจริงประชาชน อยากทราบว่าใครพรรคการเมืองใด เพื่อช่วยกันบอกว่าการตั้งรัฐบาลว่าไปตามวิถีทางอย่าทำนอกวิถีทาง เพราะเรื่องหลักไม่ใช่การเป็นรัฐบาลโดยพรรคการเมืองใด แต่คือการมีสภาผู้แทนราษฎรเเละระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทุกพรรคการเมืองต้องช่วยกัน ส่วนใครเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลก็เป็นเรื่องที่จะตามมา

วอนพรรคการเมืองรักษาสัญญาประชาชน

นางลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-NET) กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งทุกคนคาดหวังจะมีรัฐบาลที่มีสถียรภาพ เพื่อนำพาประเทศชาติไปสู่การพัฒนาตามนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองได้หาเสียงไว้ ได้แสดงความมุ่งมั่น เจตนารมณ์ผ่านการหาเสียง ผ่านทางนโยบาย แต่ละพรรคการเมือง จึงควรที่จะพยายามรักษาสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาชนในช่วงการหาเสียง ตั้งมั่นว่าสิ่งประชาชนได้ลงคะแนนเสียงเลือกมาเป็นสิ่งที่มีค่าที่จะต้องรักษาไว้ อยากเห็นภาพที่พรรคการเมืองรักษาสัญญา โดยเฉพาะสมาชิกพรรคการเมือง อยากให้ตระหนักว่าการที่ประชาชนเลือกท่านมาเพราะพรรคการเมือง

ระบบการเลือกตั้งใหม่เน้นพรรคการเมือง ดังนั้นพรรคการเมืองจะต้องรักษาสัญญา สมาชิกทำหน้าที่ของพรรค สัญญาที่ให้กับประชาชน ก็ควรจะรักษาไว้

อยากให้เราสร้างมิติใหม่ทางการเมือง ภาพใหม่ของการเมืองว่า พรรคการเมืองจะต้องเป็นผู้นำในการสร้างมิติใหม่ทางการเมืองนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง หากยังกลับไปสู่วงวัฎจักรวงเวียนเดิม ๆ ประชาชนก็จะไม่ได้ความหวังกับพรรคการเมืองที่ควรรักษาศักดิ์ศรี ขณะที่สมาชิกพรรคต้องทำหน้าที่ของพรรคการเมืองและสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนในด้านนโยบายต่าง ๆ

รองประธานและเลขาธิการ P-Net กล่าวว่า ช่วงก่อนการเลือกตั้ง พีเน็ต ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชน ในการระดมความเห็น ของพรรคการเมืองทำสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน วันนี้อยากจะทบทวนความจำให้กับพรรคการเมืองที่รวมลงนามในสัญญา โดยเฉพาะเรื่องของนโยบาย การกระจายอำนาจ  ให้จังหวัดจัดการตนเอง นับเป็นมิติใหม่ที่พรรคการเมืองได้ให้สัญญาไว้ อยากให้มีการผลักดันนโยบายสำคัญๆเหล่านี้ ต่างๆที่พรรคการเมืองให้สัญญาไว้กับประชาชน 

การจัดตั้งรัฐบาล ควรจะให้นักการเมืองที่มีเสียงข้างมากเป็นผู้ริเริ่ม และพรรคการเมืองที่ร่วมลงนาม 26 พรรค ได้ตระหนักถึงสัญญาที่ลงไว้ เพื่อให้เป็นไปตามประชาธิปไตย 

แนะพรรคการเมืองมีเอกภาพมุ่งประชาธิปไตย

นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ศูนย์อำนวยการวาระเลือกตั้ง 62 ที่มีไทยพีบีเอสเป็นศูนย์กลาง ได้เชิญเครือข่ายเข้าร่วมประชุม  สมาคมนักข่าวฯ เข้าไปรับฟังว่า จุดประสงค์ในการดำเนินการเพื่ออะไร เพราะถือหลักว่า ความเป็นนักข่าวต้องทำหน้าที่เป็นกลางบนความเป็นธรรม หากเข้าร่วมแล้วเป็นการเอื้อประโยชน์เพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะตัดสินใจถอนตัว

แต่พบว่าศูนย์ มีเป้าหมายการเลือกตั้งเพื่อให้เสียงของประชาชนไปไกลกว่า ไม่ใช่เฉพาะแค่การหย่อนบัตรหรือการเลือกตั้ง ดังนั้นสื่อมวลชนถือว่า มีบทบาทในการร่วมกันผลักดันให้การเลือกตั้งมีความหมายมากกว่านั้น 

การเลือกตั้งครั้งนี้ พบมีการพัฒนาไปสู่สถานการณ์ที่ทำท่าจะเป็นการแบ่งขั้ว จากการแบ่งฝ่าย คือ ฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นปกติของระบบรัฐสภาในประชาธิปไตย  แต่การแบ่งขั้ว คือ การตั้งแง่ สร้างวาทกรรมว่า ฝ่ายเราคือคนดี อีกฝ่ายคือคนเลวร้าย สิ่งนี้สุ่มเสี่ยงทำให้สังคมกลับมาสู่ความขัดแย้ง อยากให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปโดยกติกาบนพื้นฐานของสุภาพชน และทำให้ประชาธิปไตยมีความหมาย คำนึงถึงเสียงของประชาชน

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการกาบัตร 1 เสียง เลือกได้ 3 อย่าง ดังนั้น ส.ส. แต่ละคนคงบอกได้ยากว่า เสียงที่ได้รับมาเพราะส่วนตัว พรรคการเมือง หรือนายกรัฐมนตรีของพรรค ดังนั้นการตัดสินใจใดจึงควรรับผิดชอบร่วมเป็นเอกภาพเดียวกันในการตัดสินใจร่วม หรือไม่ร่วมรัฐบาล

ขณะที่นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ควรนำมาเป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล ไม่ใช่นำเก้าอี้รัฐมนตรีมาเป็นเครื่องต่อรอง ขณะเดียวกันยังมีเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ เสนอมา บางเรื่องเป็นประชานิยม บางเรื่องทำให้เกิดผลกระทบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่

ทลายขั้วการเมืองเพื่อเดินหน้าต่อ

นายพีระวัฒน โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ กล่าวว่า สิทธิของประชาชนในการหย่อนบัตรเลือกตั้งเมื่อจบลง ปรากฎว่านักการเมืองแทบไม่ได้เห็นสิทธินั้น ในช่วงการเตรียมจัดตั้งรัฐบาล เพราะฉะนั้นอยากให้การจัดตั้งรัฐบาลทลายขั้วทางการเมือง ฝั่งหนึ่งเป็นเผด็จการ ฝั่งหนึ่งเป็นประชาธิปไตย

ศูนย์อำนวยการฯ ทำงานตลอดการหาเสียง พบว่าประชาชนต้องการให้นักการเมืองทำมากกว่า เรียกร้องให้การเมืองใหม่คิดถึงนโยบาย ผลประโยชน์ของประเทศ ประชาชนเป็นตัวตั้ง มากกว่าสูตรคำนวณเลขคณิตศาสตร์ หรือวาทกรรมทางการเมืองมาตั้งแง่กัน เพราะฉะนั้นหยุดที่จะใช้หลักคณิตศาสตร์ 2 ข้างด้วยวาทกรรมสองด้าน แล้วทำให้ประเทศเดินหน้าไม่ได้

ประชาชนเห็นการเมืองใหม่ที่คิดถึงนโยบาย ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง หยุดใช้หลักคณิตศาสตร์ 2 ข้าง วาทกรรม 2 ด้าน แล้วทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไม่ได้

แม้กระทั่งรายชื่อ ส.ว. 250 คน มีแนวคิดตรงกันว่า ควรเป็นอิสระ ในการตัดสินใจมากกว่าการเดินตามคำชี้นำของคนใดคนหนึ่ง หากสภาบนและสภาล่างคิดถึงประชาชน ประเทศจะเดินหน้าต่อไปได้ เพราะฉสิ่งที่เราเรียกร้องวันนี้ คือ ยึดประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นตัวตั้ง  แล้วจะไม่เกิดคำว่า งูเห่า หรือ แหกมติพรรค จนทำให้พรรคการเมืองเดินหน้าต่อไปได้ มากกว่ายึดผลประโยชน์ของพรรคการเมืองและพรรคพวกและจะนำพาสถานการณ์กลับมาสู่สภาวะปกติ

ผู้ประกอบการ กังวลเสถียรภาพรัฐบาล

นายโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า การเมืองส่งผลต่อสภาวะบ้านเมือง และหากสภาะวะบ้านเมืองไม่มีเสถียรภาพ ย่อมส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจ กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (SME) คาดหวังว่าคนที่เราเลือกไปเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร หรือ ฝ่ายค้าน ทุกคนสร้างประโยนช์และคุณค่าได้ทั้งนั้น และทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้เหมือนกัน

คณิตศาสตร์การเมืองต้องรีบให้จบเร็วที่สุด คณิตศาสตร์การเมืองไม่ได้ช่วยให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ในวันนี้ ทุกคนต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

แม้ว่ารู้ว่ากลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ต้องเดินด้วยตัวเอง แต่เป็นการเดินแบบมีเงื่อนไข เพราะมีนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ครอบเราอยู่ เช่น นโยบายขึ้นค่าแรง กลุ่มผู้ประกอบการ ไม่มั่นใจในการทำธุรกิจ จึงต้องวางแผนว่าหลังจากนี้จะเดินอย่างไรต่อ การขึ้นค่าแรงให้แรงงาน แล้วการทำงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

กว่า 90% ที่เป็น SME ส่งผลต่อ GDP กว่า 70% ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากไปได้ ดังนั้นอยากให้ผู้แทนที่เลือกเข้าสภาฯ ต้องหันกลับมาฟังผู้ประกอบการด้วย

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง