ชงปิดถาวรลานกางเต็นท์ "ผากล้วยไม้" เปิดทางช้างผ่าน

สิ่งแวดล้อม
18 ม.ค. 64
15:37
2,143
Logo Thai PBS
ชงปิดถาวรลานกางเต็นท์ "ผากล้วยไม้" เปิดทางช้างผ่าน
เตรียมชงเสนอคณะกรรมการอุทยานเขาใหญ่ และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ พิจารณาปิดลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ถาวร หลังเกิดเหตุนักท่องเที่ยวถูกช้างทำร้ายเสียชีวิต พบเป็นเส้นทางหากินทางเดินของสัตว์ป่า จึงอาจไม่ปลอดภัย

กรณีช้างป่าเขาใหญ่ ทำร้ายนักท่องเที่ยวเสียชีวิตบริเวณลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา

วันนี้ (18 ม.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีรายงานว่าหลังจากก่อนหน้านี้นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีคำสั่งปิดลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้และลำตะคอง ไว้ชั่วคราวไม่มีกำหนดจนกว่าจะมีความปลอดภัย เนื่องจากยังพบช้างป่ามาวนเวียนในพื้นที่

ล่าสุดมีรายงานว่ามีการการเสนอปิดลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ถาวร โดยอยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ :เฟซบุ๊ก พญาเย็น หนึ่ง

ภาพ :เฟซบุ๊ก พญาเย็น หนึ่ง

ภาพ :เฟซบุ๊ก พญาเย็น หนึ่ง

ชงเสนอบอร์ดเขาใหญ่-ทำอุปกรณ์ส่งเสียงเตือนสัตว์

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายอดิศักดิ์ ยืนยันว่าขณะนี้เป็นแค่แนวทางหารือนอกรอบที่เตรียมจะเสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอธิบดีกรมอุทยานฯ พิจารณาก่อน ยังไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ยอมรับว่าเบื้องต้นได้มีการพูดคุยหารือกันจริง ซึ่งทั้งหมดต้องเสนอตามขั้นตอนก่อนจะสรุปเป็นมติ ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณลานกางเต็นท์ ยังพบว่ามีการใช้พื้นที่ของสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และสัตว์ป่าที่ต้องใช้พื้นที่หากิน

ปกติผากล้วยไม้ รองรับเต็นท์ได้ 600 กว่าหลัง เนื่องจากเป็นพื้นที่เปิดโล่ง แต่ขณะเดียวกันก็พบเป็นเส้นทางหากินของช้าง สัตว์ป่า ดังนั้นถ้าชี้ชัดว่ามีสัตว์ป่ามาหากินตลอดก็จำเป็นต้องปิด เพื่อให้เป็นบ้านของสัตว์ป่าและพิจารณาจุดอื่นแทน

ส่วนจุดกางเต็นท์ลำตะคอง รองรับได้ประมาณ 700 หลัง เป็นสถานที่เปิดโล่ง ไม่ใช่มีต้นไม้บดบังทัศนียภาพ และไม่ใช่เส้นทางของสัตว์ป่าจึงยังไม่พิจารณาปิดถาวร

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นได้ทดลองติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนสัตว์โดยมีการทำสวิตซ์เปิดปิดขึงไว้กับเส้นเอ็น ที่ระดับความสูงของช้าง หากมีช้างเดินเข้ามาเครื่องจะดันสวิตซ์เปิด ส่งเสียงดัง และเปิดไฟส่องว่างขึ้นมาทันที  

ภาพ:อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ภาพ:อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ภาพ:อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ขณะที่ข้อสังเกตว่าช้างที่ทำร้ายนักท่องเทียวว่ามาจากการติดปลอกคอ ส่วนตัวยังไม่ปักใจเชื่อ เพราะช่วงหนาวช้างจะตกมัน อารมณ์แปรรปวน แต่การติดปลอกคอใช้เวลาปรับตัว 2-4 สัปดาห์ และสาเหตุหลักน่าจะมาช้างตามกลิ่นส้มโอที่พบบางส่วนในรถ และในเต็นท์ผู้เสียชีวิต พบรอยช้างเดินวนรอบรถเหมือนจะหาทางกิน และพอหงุดหงิดก็เลยไปเดินที่เต็นท์ และเหยียบนักท่องเที่ยว เขารื้อรื้อเต็นท์หาผลไม้ไม่ได้ทำร้ายคน เพราะในเต็นท์มีส้มโอบางส่วนที่หล่นอยู่ด้วย และน่าจะเป็นอันแรก

ส่วนการติดปลอกคอช้างบนเขาใหญ่ จะพัฒนาเป็นระบบเฝ้าระวังเตือนนักท่องเที่ยว เพื่อรู้ว่าเคลื่อนไหวไปตรงจุดไหนบ้าง แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น และตัวปลอกคอถ้าสร้างความรำคาญกับช้างก็อาจพิจารณาถอดออก เนื่องจากบนเขาใหญ่มีรถสัญจรไปมาก็อาจเกิดปัญหาได้ 

น้าหมู เสนอทางออก-พบเจ้าดื้อหงุดหงิดจริง

นายบดินทร์ จันทศรีคำ หรือน้าหมู ประธานชมรมฅนรักษ์สัตว์ป่า และที่ปรึกษาคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า เบื้องต้นมีการหารือนอกรอบข้อเสนอปิดลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ ซึ่งแม้ว่าจะเปิดให้บริการมานาน 30-40 ปี แต่เมื่อพบว่าเส้นทางนี้อาจไม่ปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เพราะพบว่ามีช้าง และสัตว์ป่าหลายชนิดออกมาหากินและใช้เส้นทางเป็นประจำ และอนาคตอาจทำเพนียดเหมือนตรงน้ำตกเหวนรก มีประตูเข้าออกเพียงด้านเดียว และมีเจ้าหน้าที่ประจำในจุดเสี่ยง

การที่ปิดผากล้วยไม้ที่เปิดมานาน 30-40 ปี เหลือเพียงจุดลำตะคองไว้ ก็ยังพอได้ แม้จะเกาไม่ถูกที่คันแต่ถ้ามีผลการศึกษาว่าเป็นเส้นทางของสัตว์ป่าก็เห็นด้วย และทำเป็นศูนย์ศึกษาการเรียนรู้ และยังต้องรอความเห็นจากคณะกรรมการส่วนใหญ่

นายบดินทร์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการติดปลอกคอเจ้าดื้อ ช้างที่หากินบนเขาใหญ่ ยอมรับว่าตกใจเพราะเรื่องนี้คณะกรรมการฯ ไม่รู้มาก่อน และปกติควรจะติดกับช้างที่หากินนอกพื้นที่อุทยานฯ เพื่อติดตามช้าง แจ้งเตือนประชาชน และให้เจ้าหน้าที่ผลักดันช้างที่ออกนอกพื้นที่ ส่วนจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าดื้อเครียดและทำร้ายคนหรือไม่หลังติดปลอกคอ ยังไม่ชี้ชัด

ภาพ:อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ภาพ:อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ภาพ:อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่


คำให้การของนักท่องเที่ยวบอกว่ามีช้างงายาว 1 เมตรและมีอะไรคล้องคอซึ่งก็คือเจ้าดื้อ และยังพบว่าก่อนเกิดเมื่อวันที่ 13 ม.ค.และหลังเกิดเหตุก็ยังเจอเจ้าดื้อวนเวียนแถวกากล้วยไม่ที่นักท่องเที่ยวถ่ายภาพช้างตัวนี้ เพราะเป็นวงรอบการหากินของเจ้าดื้อมาอยู่ละแวกนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการสั่งปิด และรื้อร้านค้า เพื่อเปิดทางให้เป็นพื้นที่ผ่านของช้างเขาใหญ่ ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2562 ที่มีเคยเหตุการณ์ช้างตกน้ำตกเหวนรกตาย 11 ตัวซึ่งเป็นข่าวโด่งดัง และนักวิชาการเคยเสนอให้นำร้านค้าและร้านอาหารที่อยู่ในจุดที่ช้างเดินผ่านออก พบว่าขณะนี้อุทยานฯได้รื้อเพิงร้านค้าทั้งหมดออกแล้ว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทำไม? "เจ้าดื้อ" ช้างป่าเขาใหญ่ทำร้ายคนตาย

ติดปลอกคอ GPS คาดปม "เจ้าดื้อ" เครียดทำร้ายนักท่องเที่ยว

ปิดจุดกางเต็นท์เขาใหญ่ไม่มีกำหนด คาด "เจ้าดื้อ" กระทืบ นทท.ตาย

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง