จับตารถไฟรางคู่ "แก่งคอย" เป็นฮับโลจิสติกส์ ชุมชนห่วงเวนคืนที่ดิน-ผลกระทบจากโรงซ่อม

8 ม.ค. 59
14:50
2,404
Logo Thai PBS
จับตารถไฟรางคู่ "แก่งคอย" เป็นฮับโลจิสติกส์ ชุมชนห่วงเวนคืนที่ดิน-ผลกระทบจากโรงซ่อม
"สระบุรี" ในภาพจำของหลายคน เป็นเมืองทางผ่านจังหวัดสุดท้ายก่อนเข้าสู่ภาคอีสาน แต่อีกไม่นานสระบุรีจะเป็นศูนย์กลางของเมกะโปรเจกต์โครงข่ายคมนาคมขนส่ง ทั้งระบบรางและถนน 4 โครงการใหญ่ที่มีปลายทางจบที่ อ.แก่งคอย

โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟทางคู่ไทย-จีน ที่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างตกลงสัดส่วนการลงทุนและติดตามรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย และช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ที่คืบหน้าไปแล้วร้อยละ 80

ฮับโครงข่ายคมนาคม ชุมทาง 4 เมกะโปรเจกต์ ต่อยอดรถไฟทางคู่ไทย-จีน

"แก่งค่อย" เป็นที่ตั้งโรงงานผลิตปูนซิเมนต์รายใหญ่หลายบริษัท เพราะมีจุดแข็งจากทรัพยากรเขาหินปูน อีกทั้งที่ตั้งของอำเภอ ยังเป็นจุดเปลี่ยนของการขนส่งระบบราง 4 สาย ได้แก่ บัวใหญ่ นครราชสีมา ภาชี คลองสิบเก้า

ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ เดินทางไปที่สถานีรถไฟชุมทางแก่งคอย เมื่อมองสภาพทางกายภาพจะเห็นว่ามีรางรถไฟสำหรับจอดพักขบวนรถไม่น้อยกว่า 10 ราง มีขบวนรถขนปูน ตู้คอนเทนเนอร์ ขบวนรถบรรทุกกระบะขนส่งหิน จอดเพื่อรอการเดินทาง เจ้าหน้าที่รถไฟทดสอบเดินหัวรถจักรดีเซลชุดใหม่ บางส่วนซ่อมบำรุงไม้หมอนรางด้วยแท่งคอนกรีตล็อตใหม่

 

 

นายรัตนศักดิ์ คงทน นายสถานีรถไฟชุมทางแก่งคอย เปิดเผยว่า ชุมทางแก่งคอยมีขบวนรถสินค้าหมุนเวียนถึงวันละ 36 ขบวน เป็นเส้นทางอุตสาหกรรมที่สินค้าจะต้องมาจัดรูปขบวน ได้แก่ ก๊าซ น้ำมัน สินค้า ขนส่งไป-กลับในสายตะวันออก มาบตาพุด บางละมุง นำสินค้าไปลงเรือที่ท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านเส้นทางรถไฟคลองสิบเก้า เส้นทางขึ้นเหนือ เช่น ขบวนรถก๊าซไปยัง จ.นครสวรรค์ ลำปาง ส่วนเส้นทางไป จ.ขอนแก่น เน้นสินค้าจำพวกยางพารา น้ำตาล เบียร์

 

 

นายสถานีชุมทางแก่งคอยกล่าวถึงรถไฟทางคู่ว่า หากก่อสร้างเสร็จและเดินรถ จะทำให้การขนส่งเร็วกว่าในปัจจุบัน เพราะไม่ต้องรอหลีกขบวน ปล่อยรถได้อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้เอกชนบางราย เริ่มกลับมาศึกษาข้อมูลใช้บริการรถไฟขนส่งสินค้าอีกครั้ง หลังจากรัฐบาลมีความชัดเจนในการก่อสร้าง

"การขนส่งทางรถไฟเป็นตัวเลือกที่เอกชนเลือกใช้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า ค่าใช่จ่ายไม่สูงเท่าการขนส่งทางรถยนต์ ตอนนี้มีการเปลี่ยนรางเป็นขนาด 100 ปอนด์ ให้หัวรถจักรดีเซลตัวใหม่วิ่ง กำลังมากกว่าเดิมสองเท่า ถ้าเราพร้อมด้านดีเซลและสภาพทาง เอกชนน่าจะเข้าใช้บริการมากขึ้น และในอนาคตต้องเพิ่มบุคลากรที่สถานีชุมทางนี้มากขึ้น เพื่อรองรับขบวนรถไฟที่มีความถี่ในการสัญจรมากกว่าเดิม" นายรัตนศักดิ์กล่าว

ท้องถิ่นยืนยันจุดแข็ง ขอรัฐเพิ่มงบฯ พัฒนาสาธารณูปโภค รับ 4 โครงการใหญ่

ขณะที่ นายสมชาย วรกิจเจริญผล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองแก่งคอย ระบุว่า ภูมิศาสตร์ของแก่งคอยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ โครงสร้างทางภูมิศาสตร์ ที่เป็นหินภูเขาไฟและหินตะกอน ทำให้แก่งคอยมีโรงงานปูนซิเมนต์จำนวนมาก อีกทั้งจะขนส่งสินค้าจากที่นี่เป็นหลัก ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงมีต้นทุนสูง เหมาะกับภาคธุรกิจและท่องเที่ยว ส่วนรถไฟฟ้ารางคู่ขนาด 1.435 เมตร จะมีบทบาทกับชาวบ้านค่อนข้างมาก ทำให้คนหันมาใช้รถไฟมากขึ้น หากรัฐบาลให้ความเอาใจใส่และมีการกำหนดตารางเดินทางที่แม่นยำ เช่น จากแก่งคอยไปกรุงเทพฯ จะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะต้องรอเปลี่ยนรางจากขอนไม้เป็นคอนกรีตทั่วประเทศ รองรับน้ำหนักหัวลากด้วย

"รถไฟรางคู่เดิมขนาด 1 เมตร ไม่ดึงดูดให้คนใช้บริการ เพราะกำหนดเวลาไม่ได้ ไม่มีการสับหลีก" นายสมชายกล่าว

 

 

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาร่วมวางแผนกับท้องถิ่น เช่น ความพร้อมของถนน ระบบน้ำประปา รวมทั้งการกำหนดเขตชุมชนและอุตสาหกรรมให้ชัดเจน เนื่องจากพื้นที่แก่งคอยสามารถขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มาก โดยอาจนำข้อมูลและปัญหาต่างๆ ไปเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย เพื่อรองรับการดำเนินโครงการในไทย

นายสมชายกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เสนอสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เรื่องถนนโลโคโรด หรือถนนเลียบทางรถไฟ แก้ปัญหารถติดในชั่วโมงเร่งด่วน แต่ สนข.ระบุว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาการบุกรุกที่ดินของการรถไฟ

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือ ในพื้นที่ยังมีความเห็นต่างของภาครัฐ ท้องถิ่น และชาวบ้าน คือการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุงใหม่ในพื้นที่ สถานีรถไฟชุมทางแก่งคอย โดยนายสมชายระบุว่า ก่อนหน้านี้ทีมวิศวกรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เข้ามาออกแบบเส้นทางเข้าออกสถานีรถไฟชุมทางแก่งคอย รวมทั้งการปรับปรุงศูนย์ซ่อมบำรุงเก่าและศูนย์ซ่อมบำรุงหัวลากรถจักรดีเซล 20 หัว ที่เพิ่งสั่งซื้อมาจากจีน โดยให้เหตุผลว่า สถานีรถไฟชุมทางแก่งคอยมีพื้นที่ 300-400 ไร่ เหมาะสมในการสร้างโรงซ่อมบำรุง มากกว่าการเป็นที่พักของพนักงาน ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะศูนย์ซ่อมดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับเทศบาลเมืองแก่งคอย อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านเสียง

“โครงการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุงใหม่ เน้นใช้โจทย์การนำโรงงานมาตั้งในพื้นที่ของการรถไฟ แต่ขาดการวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งอาจประสบปัญหามากกว่าสถานีรถไฟมักกะสัน เพราะไม่สามารถขยายและพัฒนาพื้นที่ได้ในอนาคต การจัดทำโครงการต่างๆ ต้องมีการเตรียมความพร้อมหลายด้าน ทั้งความเหมาะสม ความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ การควบคุมสิ่งแวดล้อม ผมมองว่าในอนาคตแก่งคอยจะขยายตัวเป็นเมืองใหญ่ การรถไฟน่าจะหาประโยชน์ที่ดินในเชิงพาณิชย์มากกว่าสร้างโรงซ่อม” นายสมชายกล่าว

 

 

ด้านนายนคร แท่นโสภา ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเมืองแก่งคอย เปิดเผยว่า ประชาชนยังคงคัดค้านการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุงภายในสถานีรถไฟชุมทางแก่งคอย พร้อมเสนอให้ก่อสร้างบริเวณเขาคอก ซึ่งห่างออกไปประมาณ 4 กิโลเมตร แทนการย้ายบ้านพักพนักงานไปยังบริเวณดังกล่าว โดยกังวลเกี่ยวกับปัญหามลภาวะทางเสียง การเกิดน้ำท่วม เนื่องจากน้ำที่มาจากทางทิศตะวันออกไม่มีทางไหลผ่านไปยังแม่น้ำป่าสัก และห่างไกลจากสถานศึกษา ส่วนการจัดเวทีรับฟังความเห็นนั้น เป็นเพียงการเชิญประชาชนเข้ามารับฟังโครงการ แต่จริงๆ แล้วชาวบ้านต้องการให้ออกแบบโครงการ โดยคำนึงถึงการแก้ปัญหารถติดบริเวณทางข้ามทางรถไฟด้วย เนื่องจากแก่งคอยเป็นสถานีรถไฟชุมทาง

เสียงจากคนริมราง "ที่บ้านไม่มีรถผ่าน มีแต่รถไฟอย่างเดียว"

ย้อนกลับมาที่ อ.เมืองสระบุรี โกสุม ถนอมวงศ์ ข้าราชการบำนาญ วัย 73 ปี ชาว อ.หนองแซง นั่งรอรถไฟอยู่ที่สถานีรถไฟสระบุรี เพื่อกลับบ้านที่อยู่ละแวกทางรถไฟรอยต่อระหว่าง อ.เมือง และ อ.หนองแซง โกสุมเล่าว่า ขึ้นรถไฟเพราะมีความสะดวกกว่ารถโดยสารทั่วไป เนื่องจากต้องไปขึ้นรถที่ตัวอำเภอ และไม่มีรถสองแถวผ่าน เมื่อถามถึงโครงการสร้างทางรถไฟทางคู่ว่า มีผลกระทบหรือไม่ โกสุมกล่าวว่า ไม่มีข้อกังวลเรื่องว่าจะสร้าง เพียงแต่ต้องการความชัดเจนว่า บ้านของตนจะต้องถูกเวนคืนหรือไม่ ขณะเดียวกันก็เห็นว่านี่เป็นการมาถึงของความเจริญที่ทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วขึ้น

ไม่ต่างจาก ตุ๊กตา การะเกษ ชาวจังหวัดลพบุรี ที่ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงเดินทางจาก อ.พัฒนานิคม มาขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟสระบุรี ขบวนรถเร็วธรรมดา 135 ปลายทาง จ.สุรินทร์ เป็นเส้นทางที่ตุ๊กตาเดินทาง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เธอโดยสารรถไฟในเส้นทางนี้ เธอให้ความเห็นถึงโครงการรถไฟทางคู่ว่าน่าจะทำให้ร่นระยะเวลาการเดินทางได้เร็วขึ้น เช่นเส้นทางสระบุรี-หนองคาย ตามที่ได้ข้อมูลจากภาครัฐ

"ถ้ารถไฟปรับปรุงใหม่จะดีมาก เพราะรุ่นเก่ามันเก่า...เบาะนั่งอยากให้ปรับดีหน่อย ทำให้เหมือนรถไฟฟ้า"

 

หอการค้าสระบุรี หวังบูมอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร

ส่วนภาคธุรกิจของสระบุรี นายนพดล ธรรมวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดสระบุรี ระบุว่า เส้นทางคมนาคมที่รวมกันที่สระบุรี-แก่งคอย น่าจะทำให้พื้นที่นี้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ที่ชัดเจนคือเรื่องการขนส่งสินค้า และมองว่าจุดแข็งของระบบรางที่มีต้นทุนการขนส่งเพียง 5 เปอร์เซนต์ ถูกกว่าการขนส่งทางถนน จะเป็นจุดดึงดูดนักลงทุน เมื่อร่วมกับปัจจัยการเป็นจุดเปลี่ยนของโครงข่ายระบบรางที่สามารถวิ่งไปทางภาคเหนือได้

นายนพดลระบุว่า ทั้งภาคเอกชนและราชการในสระบุรีต่างมีการขยับ เพื่อรับเมกะโปรเจกต์ที่จะเกิดขึ้น หนึ่งในข้อกังวลคือ การเตรียมผังเมืองฉบับใหม่ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนหอการค้าจังหวัดมองเรื่องการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบเส้นทางคมนาคม เช่น พื้นที่รอบรัศมีสถานีรถไฟความเร็วปานกลางควรรองรับการอยู่อาศัย การวางยุทธศาสตร์ของเส้นทางคมนาคมใหม่ว่ามีแนวคิดสร้างสระบุรีเป็นจุดรวม-กระจายสินค้า ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้ามุ่งเป็นฮับของประเทศและอาเซียน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีการเพิ่มของราคาที่ดิน

 

 

ประธานหอการค้ายังกล่าวด้วยว่า แม้ว่าสระบุรีจะดูเหมือนเป็นจังหวัดอุตสาหกรรม แต่จริงๆ แล้วอุตสาหกรรมมีไม่ถึง 5 เปอร์เซนต์ แม้ว่าวันนี้จีดีพีของจังหวัดจะเป็นอันดับที่ 9 ของประเทศ กว่า 2 แสนกว่าล้านบาท แต่เป็นรายได้ที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมถึง 70 เปอร์เซนต์ ซึ่งมาจากผู้ประกอบการไม่ถึง 5เปอร์เซนต์ ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่เกษตรยู่มาก จึงเห็นว่าอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนควรเป็นประโยชน์กับภาคเกษตร เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปด้านสินค้าเกษตรมากกว่า

วรรณพร แก้วแพรก-ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง